"บลจ.แอสเซท พลัส"เปิดขายกองทุนใหม่ลงทุนบอนด์รัฐคาดผลตอบแทน 3.20% ต่อปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 9, 2008 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเสนอขายกองทุนเปิดแอสเซทพลัสพันธบัตรรัฐบาล 2 (Asset Plus Active Government Bond Fund 2 : ASP-ACGOV2) เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย เพื่อรองรับผู้ต้องการลงทุนในตราสารความเสี่ยงต่ำ รอบระยะเวลาการลงทุนแบบยืดหยุ่น ประมาณ 3-4 เดือน โดยเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 10-20 ตุลาคม 2551 
สำหรับกองทุน ASP-ACGOV2 นี้ คาดว่าจากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะลงทุนหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.20% แล้ว จะสามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 3.20% หรือเทียบเท่ากับเงินฝากก่อนหักภาษีประมาณ 3.75%
"บริษัทฯ ได้ปรับแผนการเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ โดยใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเปิดรอบระยะเวลาการลงทุน เพื่อรองรับให้กองทุนสามารถยืดหยุ่นระยะเวลาการลงทุนได้ตามภาวะตลาดตราสารหนี้ในแต่ละขณะ และสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนจากการลงทุนได้แม้ในช่วงภาวะตลาดตราสารหนี้ผันผวนในปัจจุบัน"นางลดาวรรณ กล่าว
นางลดาวรรณ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผลตอบแทนของพันธบัตรโดยรวมปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ประกอบกับภาวะความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลกในช่วงเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณพันธบัตรไม่เพียงพอต่อความต้องการลงทุนจากการประกาศงดการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือนของกระทรวงการคลัง เนื่องจากแผนบริหารหนี้สาธารณะยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ปริมาณการกู้ยืมระหว่างธนาคารผ่านตลาดเงินปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีผลมาจากความวิตกกังกลเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ในส่วนของตลาดเงิน ปริมาณการกู้ยืมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพคล่องตึงตัวด้วย
“ในช่วงนี้สถาบันการเงินต่างต้องการถือสภาพคล่องไว้กับตัวเองมากที่สุด และลดการปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่นลง ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก แต่เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศเองก็ยังไม่มั่นใจในเหตุการทางการเมือง นักลงทุนจึงชะลอการลงทุนในตลาดทุน และลงทุนในตราสารประเภทพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น ๆ เพื่อรอความชัดเจนจากสถานการณ์การเงินก่อน"นางลดาวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ดังจะเห็นได้จากธนาคารกลางออสเตรเลียปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 1% เหลือ 6% ขณะเดียวกัน ประธานเฟดก็ส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นกัน แม้จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวานนี้ก็ตาม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ