(เพิ่มเติม) MILL คาดขายหุ้นกู้แปลงสภาพ 1.2 พันลบ.กับนักลงทุนตปท.ได้ภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 9, 2008 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ (MILL) คาดขายหุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่ารวม ไม่เกิน 1,200 ล้านบาทให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ได้ภายในปีนี้  หลังจากเจรจาไว้แล้ว 2-3 ราย ขณะที่ใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอแรนต์)ที่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมจะระดมทุนได้ประมาณ  500-600 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างฐานทุนให้บริษัทแข็งแรง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 
วันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น MILL อนุมัติการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรองรับการออกขายหุ้นกู้แปลงสภาพไม่เกิน 1,200 ล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี ที่จะเสนอขายในต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันโดยเฉพาะเจาะจง และรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนต์)ที่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ ในราคาใช้สิทธิ 5 บาท โดยวอแรนต์นี้มีอายุไม่เกิน 5 ปี
"เราคิดว่าจะขาย(หุ้นกู้)กับสถาบันต่างประเทศ ได้ภายในปีนี้ เราคุยมา 2-3 รายตอนทำดิวดิลิเจนท์ แต่ถ้าขายปีนี้ไม่ได้ก็ไปขายในปีหน้า"นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ MILL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับการจัดสรรวอร์แรนต์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมคาดว่าจะสามารถระดมทุนประมาณ 500-600 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในช่วง 5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับที่ปรึกษาทางการเงินว่าจะขอใช้เกณฑ์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) หรือจะเดินหน้าตามเกณฑ์เดิม ขณะที่ราคาใช้สิทธิที่ 5 บาทมองว่าไม่สูง เพราะกว่าจะถึงกำหนดราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นมามากแล้ว
ขณะที่การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้กองทุนต่างประเทศ หากมีการใช้สิทธิแปลงสภาพทั้งหมดก็จะทำให้สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเป็นกว่า 20% จากวันนี้อยู่ที่กว่า 10% กว่า ส่วนราคาที่แปลงสภาพที่ขออนุมัติผู้ถือหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่า 6.89 บาท ซึ่งลดลงจาก เดิมกำหนดไว้ 7.10 บาทนั้น อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะกำหนดจริงที่เท่าใด
นายสิทธิชัย กล่าวว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการด้านการเงิน เพราะธุรกิจเหล็กจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากในการสต็อกสินค้า โดยปีนี้คาดว่าใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายปีนี้ ดังนั้นจึงได้วางแผนการจัดหาแหล่งเงินเพื่อสร้างฐานทุนของบริษัทให้แข็งแกร่ง และสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ตลอด
ขณะเดียวกัน ในปี 51 บริษัทยังมั่นใจว่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย โดยมาจากยอดขายของบริษัท 7 พันล้านบาท และ บริษัท บีอาร์พี จำกัด 3 พันล้านบาท
นายสิทธิชัย กล่าวว่า บริษัทเริ่มลดตุ้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย และไม่สต็อกสินค้ามากเกินไป หลังจากมองว่าในไตรมาส 3/51 ยอดขายเริ่มชะลอตัวเนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น และผลจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ประกอบกับ ราคาเหล็กปรับตัวลงประมาณ 10% ทำให้มาร์จิ้นต่ำกว่าไตรมาส 2/51 จึงคาดว่ารายได้และกำไรสุทธิในไตรมาส 3/51 จะต่ำกว่าไตรมาส 2/51 แต่จะสูงกว่าไตรมาส 3/50
ส่วนในไตรมาส 4/51 ขณะนี้มียอดรอรับรู้รายได้แล้วจำนวน 1 พันล้านบาท และเชื่อว่าตลาดจะไม่ตกต่ำมาก โดยบริษัทไม่ได้พึ่งพิงแต่ตลาดในประเทศ โดยในยอดที่รอรับรู้รายได้ดังกล่าวมีสัดส่วนเป็นการส่งออก 60% และสัดส่วนในประเทศ 40%
"เราก็กังวล แต่ไม่ Panic เราก็ต้องหาทางรับมือความเสี่ยง พยายามหาตลาดใหม่ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ over stock" นายสิทธิชัย กล่าว
ในปีหน้าบริษัทจะเน้นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและมองหาสินค้าที่ดีมีคุณภาพเข้ามาเพิ่มเติม เพราะมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลง ซึ่งในปีหน้าบริษัทก็ยังจะไม่มีการลงทุนใหม่ เพราะกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 9 แสนตันยังเพียงพอ เนื่องจากมีการใช้กำลังผลิตเพียง 50% เท่านั้น
สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวลงไปมาก บริษัทไม่มีแผนซื้อหุ้นคืน เพราะมองไม่เห็นความจำเป็น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ