ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กหวั่นบ.รถยนต์เป็นเหยื่อวิกฤตสินเชื่อ ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 678.91 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 10, 2008 06:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (9 ต.ค.) หรือกว่า 7% โดยดัชนีดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 9,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งสูงขึ้นในตลาดอินเตอร์แบงค์และตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐที่ปรับตัวลดลงได้จุดกระแสความวิตกกังวลที่ว่าบริษัทผลิตรถยนต์ บริษัทประกัน และบริษัทพลังงาน อาจเป็นเหยื่อวิกฤตสินเชื่อรายต่อไป นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ขู่ว่าจะปรับลดอันดับเครดิตบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม)
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 678.91 จุด หรือ 7.33% แตะที่ 8,579.19 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดร่วงลง 75.02 จุด หรือ 7.62% แตะที่ 909.92 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดดิ่งลง 95.21 จุด หรือ 5.47% แตะที่ 1,645.12 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 2.04 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 12 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.95 พันล้านหุ้น
นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นหลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ระบุว่า เอสแอนด์พี กำลังทบทวนอันดับเครดิตของจีเอ็ม และบริษัทในเครือคือ จีเอ็มเอซี แอลแอลซี เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะปรับลดอันดับเครดิตหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่ามีโอกาสถึง 50% ที่จีเอ็มและจีเอ็มเอซีจะถูกลดอันดับเครดิตภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากยอดขายรถยนต์ของจีเอ็มตกต่ำมากในแถบอเมริกาเหนือ
นอกจากนี้ เอสแอนด์พียังประกาศ "เครดิตพินิจ" แก่บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ โดยระบุว่าสภาพคล่องของฟอร์ดและจีเอ็มมีอยู่เพียงพอในขณะนี้ก็จริง แต่สถานการณ์ในปีหน้าอาจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวฉุดหุ้นจีเอ็มดิ่งลง 31% และหุ้นฟอร์ดร่วงลง 22%
อาร์เธอร์ โฮแกน นักวิเคราะห์จาก Jefferies & Co กล่าวว่า "นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในแทบจะทุกด้าน ตลาดหุ้นนิวยอร์กและเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง แม้ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการร่วงลงของดาวโจนส์ได้ และไม่สามารถสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมในตลาดอินเตอร์แบงค์ได้เลย"
อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนในตลาดลอนดอน หรือ LIBOR พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.75% จากวันพุธที่ระดับ 4.52% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดฮ่องกง (HIBOR) พุ่งขึ้น 0.25% แตะระดับ 4.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดสิงคโปร์ (SIBOR) พุ่งขึ้น 0.19% แตะระดับ 4.51% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในญี่ปุ่นยืนอยู่ที่ 0.871% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน
คาเซร์ บาโยนิโต นักวิเคราะห์จาก Allied Banking Corp แสดงความเห็นว่า "การลดอัตราดอกเบี้ยอาจช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลในตลาดการเงินได้บ้าง แต่ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย แต่อยู่ที่ความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินต่างหาก ต้นทุนการกู้ยืมที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นในตลาดอินเตอร์แบงค์สะท้อนให้เห็นว่า สถาบันการเงินลังเลที่จะปล่อยกู้ให้แก่กันและกัน แม้ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจลดดอกเบี้ยก็ตาม"
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางแคนาดา ประกาศลดดอกเบี้ยพร้อมกันที่ระดับ 0.5% เพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์ในตลาดการเงินและสกัดกั้นการถดถอยของเศรษฐกิจ
และในวันเดียวกันนั้นเอง ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.27% นอกจากนี้ ยังได้ลดเพดานสำรองสภาพคล่องลง 0.50%
ต่อมาในวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00% ธนาคารกลางไต้หวันลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25% และธนาคารกลางฮ่องกงลดอัตราดอกเบี้ยข้ามคืน 0.50% แตะระดับ 2.0%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเคลื่อนตัวผันผวน โดยหุ้นไอบีเอ็ม ดิ่งลง 1.7% หุ้นอินเทลร่วงลง 4% และหุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 3.1% โดยหุ้นไอบีเอ็มร่วงลงแม้บริษัทรายงานว่าผลประกอบการไตรมาส 3 พุ่งขึ้นแตะระดับ 2.05 ดอลลาร์ต่อหุ้น มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.01 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่วนรายได้ทะยาน 5% แตะระดับ 2.53 หมื่นล้านดอลลาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ