วงการอสังหาฯมองวิกฤติยุคนี้ไม่รุนแรงเท่าปี 40 เตือนคุมcost-กระแสเงินสด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 10, 2008 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังถูกมองว่าเป็นมะเร็งร้ายเกาะกินและลุกลามไปเป็นวงกว้าง ซึ่งหลายคนหวาดวิตกว่าวิกฤติครั้งนี้ดูเหมือนจะเลวร้ายไม่แพ้วิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 40 แต่ในสายตาคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาแล้วกลับมามองว่าวิกฤติรอบนี้ไม่น่ารุนแรงและเลวร้ายเท่ากับ 11 ปีก่อนที่ธุรกิจพังครืนล้มระเนระนาดไม่เป็นท่าเพราะแหล่งเงินถูกปิดตาย 
"วิกฤติที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับตอนปี 40 ที่เหมือนกับอยู่ๆ เขื่อนปิดน้ำ แม่น้ำทั้งสายแห้งเหือด ไม่ว่าจะปลาใหญ่ ปลาเล็ก ปลาเป็นโรคหรือปลาแข็งแรง หรือสัตว์พันธุ์ไหนๆ ก็ตายหมด เหมือนไม่มีเงินในระบบ จะเก่งหรือจะแย่ก็ตายทั้งคู่ส่วนปีนี้แค่น้ำน้อย แต่ยังพอมีน้ำอยู่ กระแสเงินสดยังมีในระบบอยู่ แต่ปลาตัวไหนเป็นโรค ไม่แข็งแรง ไปไม่ถึงแหล่งน้ำก็ตายแน่ แต่ปลาตัวไหนที่แข็งแรง รู้ว่ามีบ่อน้ำอยู่ที่ไหน อยู่ได้ เหมือนคนที่เก่ง บริหารงานได้ดี เข้าใจข้อดีของตัวเอง คนนั้นรอด แต่ใครที่ไม่มีจุดแข็ง ตอบสนองลูกค้าไม่ได้ บริหารกระแสเงินสดได้ไม่ดี Control Cost ไม่เป็น ก็คงไม่รอด"นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ กรรมการ บมจ. รสา พร๊อพเพอร์ตี้ (RASA) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
*RASA ระวังตัวดี มีวินัยทางธุรกิจ มั่นใจฝ่าวิกฤติสบาย
นายเลิศมงคล กล่าวว่า ความจริง RASA เกิดมาในช่วงปี 38 คือเราเกิดมาในสภาวะที่ไม่มีน้ำด้วยซ้ำ เกิดมาในยุคที่ยากลำบากที่สุด มีประสบการณ์ที่เจ็บปวด แต่เราก็ผ่านมาได้ ดังนั้น เมื่อเวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้เราจึงรู้ว่าต้องทำอย่างไร เหมือนมีภูมิคุ้มกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ก็เฝ้าระวัง 3 เรื่องหลักๆ คือ พยายามกระแสเงินสดให้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการดำเนินงาน, พยายามบริหารต้นทุนให้ดี ประหยัดในทุกๆ ด้าน, พยายาม Concentrade ลูกค้ามากขึ้น ลูกค้าต้องการหรือมีความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร ก็พยายามปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องดูแลและให้กำลังใจพนักงานให้ดีที่สุด
*แบงก์เกาะติดเช็คละเอียดยิบ หวั่นลูกค้าเบี้ยวหนี้
สำหรับความกังวลกรณีแบงก์หรือสถาบันการเงินเริ่มชะลอการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงลูกค้าโครงการนั้น
นายเลิศมงคล ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แบงก์เช็ครายละเอียดมากขึ้น อาทิ รายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้า บางอย่างไม่เคยเช็คก็เช็คว่าลูกค้าจ่าย Down ลงหรือไม่ เพราะแบงก์เองก็กลัวลูกค้าจะทิ้ง, เช็คค่าใช้จ่าย ค่าการตลาด ซึ่งจริงๆ แบงก์ไม่ได้ออกค่าการตลาดให้เรา แต่อยากดูว่าเราดำเนินงานไปตามแผนการตลาดที่แจ้งไว้หรือไม่ สอดคล้องกับแผนตลาดและยอดขายที่เพิ่มขึ้นมั้ย
"เราเป็นลูกค้าชั้นดีของแบงก์ ทุกโครงการเราใช้บริการแบงก์กรุงไทยกับแบงก์นครหลวงไทย เป็นลูกค้ากันมานาน 5-6 ปีแล้ว"นายเลิศมงคล กล่าว
*RAIMON ชะลอแผนซื้อที่ดินใหม่ อีก 3-6 เดือนค่อยว่ากัน
นายกิตติ ตั้งศรีวงศ์ กรรมการ บมจ. ไรมอน แลนด์ (RAIMON) กล่าวว่า บริษัทฯคงจะชะลอการพิจารณาการจัดซื้อที่ดินใหม่เพื่อรองรับสำหรับการทำโครงการในอนาคตออกไปก่อน คาดว่าอีก 3-6 เดือนหน้าจึงจะกลับมาพิจารณา
"แผนปีหน้าที่วางเอาไว้คงจะเปิดแค่ 1 โครงการ แต่ก็ไม่แน่ หากเราเจอที่ดินผืนใหม่ที่น่าสนใจก็อาจจะเปลี่ยนแผนเปิดโครงการใหม่เพิ่ม ถ้ามีที่ดินดีก็คงต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 500-1 พันล้านบาท เงินทุนก็คงจะมาจากกู้แบงก์ด้วย และ Working Cap แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆนี้ เพราะแบงก์เองก็คงยังไม่พร้อมจะคุยตอนนี้"นายกิตติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
โครงการของ RAIMON ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้รับการอนุมัติด้านสินเชื่อหมดแล้ว และส่วนใหญ่มียอดขายแล้ว 60-70% ของทั้งโครงการ หากบริษัทมีโปรเจ็คต์ที่จะทำใหม่ก็คงต้องขออนุมัติสินเชื่อเพื่อทำโครงการ แต่บริษัทฯยังไม่มีแผนซื้อที่ดินเพื่อทำโครงการใหม่ในระยะนี้
"ตอนนี้เรายังชะลอๆ โปรเจ็คต์ใหม่ รวมทั้งยังไม่ได้ตัดสินซื้อที่ดินเพิ่ม ส่วนโครงการที่จะเปิดหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 185 ราชดำริ มูลค่าโครงการ 1 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดตัวเดือน พ.ย., โครงการ Amalfi ที่จ.ภูเก็ต มูลค่า 4 พันล้านบาท เปิดเดือน ธ.ค.นี้ และโครงการเดอะ Lofts SouthShore พัทยา มูลค่า 4 พันล้านบาท เปิดตัวปี 52 ยังคงเปิดตามแผนเดิมไม่มีการเลื่อนแต่อย่างใด"นายกิตติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ