Dato’ Sri Nazir Razak หัวหน้าผู้บริหารกลุ่ม CIMB กล่าวว่า ทาง CIMB ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังของประเทศไทย ในการซื้อหุ้นธนาคารไทยธนาคาร(BT)จำนวน 42.13% หนังสืออนุมัตินี้ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551
ในหนังสือดังกล่าว CIMB Bank ในฐานะผู้ซื้อหุ้นจะยังคงมีสิทธ์ถือหุ้นในสัดส่วนที่ซื้อได้เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ CIMB Bank ซื้อหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
เมื่อสิ้นสุดเวลา 10 ปีดังกล่าว CIMB Bank ยังคงสามารถถือหุ้นที่มีอยู่ต่อไปได้ แต่ไม่สามารถซื้อหุ้นเพิ่มเติมได้ นอกเสียจากว่า ถ้าสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่คนไทยมีไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นของ BT ที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายแล้ว CIMB Bank สามารถซื้อหุ้นจนสัดส่วนรวมของผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่คนไทยถึงระดับ 49% นอกจากนี้ ถ้า CIMB Bank ต้องการขายหุ้นที่ถืออยู่ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่คนไทย จะต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน
ทั้งนี้ CIMB ลงนามในสัญญาซื้อหุ้น BT จำนวน 42.13% จากกองทุนฟื้นฟูฯ ในเดือนมิ.ย.51 คิดเป็นมูลค่า 5,905 ล้านบาท(577.4 ล้านริงกิต) หลังจากขั้นตอนการซื้อหุ้นสำเร็จแล้ว กลุ่ม CIMB มีแผนที่จะทำคำเสนอซื้อเป็นการทั่วไปสำหรับหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคาร ถ้าผู้ถือหุ้นของ BT ทุกรายตกลงขายหุ้น และมีการเพิ่มทุนจำนวน 500 ถึง 600 ล้านริงกิต กลุ่ม CIMB จะต้องใช้เงินเพื่อการนี้เพิ่มขึ้นจาก 577.4 ล้านริงกิต เป็น 1,900 ล้านริงกิต
"จากการที่เกิดการพลิกผันในธนาคาร ทำให้เราสามารถได้หุ้นในปริมาณที่สามารถควบคุมการบริหาร และลดความเสี่ยงของเรา" Dato' Nazir กล่าวเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ CIMB คาดการณ์ว่าหลังจากซื้อหุ้นส่วนที่เหลือและเพิ่มทุนใหม่แล้ว ต้นทุนของการซื้อหุ้น BT จะเท่ากับประมาณ 2.3 เท่าของมูลค่าทางบัญชีของ BT ที่ปรับปรุงแล้ว
“การเข้าซื้อหุ้นในครังนี้เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในแผนการขยายตัวสู่ภูมิภาค (Regionalisation) ของเรา และเราก็พอใจกับราคาและแผนการพลิกฟื้นธนาคาร แม้ว่าจะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก เนื่องจากเราพิจารณาว่าสิ่งนี้เป็นแผนดำเนินการระยะยาว" Dato' Nazir กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--