ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กติดปีกทะยานขึ้นกว่า 900 จุดเมื่อคืนนี้ (13 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าวที่ว่าประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกร่วมมือกันใช้มาตรการฟื้นฟูระบบการเงิน และข่าวที่ว่าคณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้จัดประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคารชั้นนำเพื่อหารือกันเรื่องแผนการซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับแถลงการณ์ของกลุ่มผู้นำยุโรปที่พร้อมจัดสรรงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องธนาคารในยุโรป
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้น 936.42 จุด หรือ 11.08% ปิดที่ 9,387.61 จุด ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.พ.ศ.2543 ขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 104.13 จุด หรือ 11.58% ปิดที่ 1,003.35 จุด ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่มีการซื้อขายดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 194.74 จุด หรือ 11.81% ปิดที่ 1,844.25 จุด ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดในรอบ 10 เดือน
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.82 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบอยู่ราว 20 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.60 พันล้านหุ้น
จอห์น ลินช์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Evergreen Investments ในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา กล่าวว่า "นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าดัชนีดาวโจนส์จะดีดตัวขึ้นหลังจากร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 8 วัน แต่การพุ่งขึ้นมากกว่า 900 จุดในวันเดียวถือเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือการคาดการณ์ โดยราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกทั่วทั้งกระดาน อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกิดไปที่จะระบุว่าตลาดเข้าสู่ช่วงขาขึ้นแล้ว เพราะสหรัฐยังมีความท้าทายอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า"
นักลงทุนขานรับความพยายามของประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่ร่วมมือกันใช้มาตรการยับยั้งวิกฤตการณ์ในตลาดการเงิน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พร้อมด้วยกลุ่มประเทศ G7 ประกาศใช้มาตรการต้านวิกฤตการเงินทั่วโลก และพร้อมที่จะดำเนินการทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้เครื่องมือทั้งหมดที่สามารถหามาได้ เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในเชิงระบบ และป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ล้มละลาย
ขณะที่กลุ่มผู้นำยุโรปมีมติให้ใช้มาตรการรับมือกับปัญหาในระบบการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงการรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ และจะใช้งบประมาณในรูปสกุลเงินยูโรรับมือกับภาวะสินเชื่อตึงตัวในตลาดและยับยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุน หลังจากตลาดหุ้นในยุโรปถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก โดยผู้นำ 15 ชาติยุโรปเห็นชอบร่วมกันว่า จะไม่ยอมให้ธนาคารรายใหญ่ล้มละลาย และจะรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารจนกว่าจะสิ้นสุดปีพ.ศ.2552 อีกทั้งจะใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จับมือกับ 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสวิส ประกาศใช้มาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นสภาคล่องในตลาดสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะจัดหาสภาพคล่องที่ง่ายต่อการเข้าถึง และระดมเงินทุนให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ อีซีบี และธนาคารกลางสวิส จะเปิดให้มีการประมูลวงเงินกู้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ประเภท 7 วัน, 28 วัน และ 84 วัน ด้วยอัตราดอกเบี้ยตายตัว
แบรดฟอร์ด เดอลอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเคยทำงานในกระทรวงการคลังสหรัฐในช่วงปีพ.ศ.2536-2538 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี หากมาตรการกอบกู้วิกฤตการณ์การเงินที่รัฐบาลทั่วโลกนำมาใช้เกิดผล
"เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แต่ผมคาดว่าเศรษฐกิจจะไม่เผชิญสถานการณ์รุนแรงเหมือนกับในช่วง Great Depression ซึ่งในเวลานั้นตัวเลขว่างงานพุ่งสูงมาก การที่ทั่วโลกร่วมมือกันใช้มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของโลกรอดพ้นจากภาวะล่มสลายได้" เดอลองกล่าว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--