บมจ.เอแคป แอ๊ดไวเซอรี่(ACAP)มองวิกฤติการเงินโลกส่งผลดีต่อการเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อขยายพอร์ตบริษัทในปีหน้าเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนในการบริหารสินทรัพย์จากปี 51 ที่เข้าซื้อสินทรัพย์ใหม่ไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาทตามเป้า ดันพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดขณะนี้อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นปีจะได้เพิ่มเป็น 6 หมื่นล้านบาท หลังจากหลายธนาคารประกาศจะขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ(NPL)และทรัพย์สินรอขาย(NPA) ออกมาอีกหลายหมื่นล้านบาทในไตรมาส 4/51
ส่วนธุรกิจของบริษัท แคปปิตอล โอเค(CAP OK)ซึ่งเป็นบริษัทย่อย(ถือ 50.99%)ปีนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มชะลอ ดังนั้น ในปีหน้าจะปรับกลยุทธ์หันมาบริหารจัดการหนี้รายย่อยแทนให้สอดคล้องสถานการณ์ ขณะที่ปีนี้คาดจะลดหนี้สินที่ไม่ก่อให้รายได้(NPL)ลงเหลือ 10% จาก 17% เมื่อต้นปี
ในปี 51 บริษัทมั่นใจว่าจะมีกำไรสุทธิมากกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 185 ล้านบาท และด้านรายได้จะเติบโตกว่า 100% จากปีก่อนมีรายได้รวม 962 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรกทำรายได้รวมแล้ว 920 ล้านบาท กำไรสุทธิในส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัทใหญ่อยู่ 24 ล้านบาท ขณะที่กำไรปกติมี 144 ล้านบาท
*ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มพอร์ตสินทรัพย์ได้ถึง 6 หมื่นลบ.
นายศฤงคาร สุทัศน์ชูโต กรรมการ ACAP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทเพิ่มพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้อีก 1.96 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มี 2.4 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทมีพอร์ตเพิ่มเป็น 4.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 2 หมื่นล้านบาท
และคาดว่าในไตรมาส 4/51 บริษัทจะขยายพอร์ตเพิ่มขึ้นจากที่ธนาคารหลายแห่งประกาศขายสินทรัพย์รอการขายในหลักหมื่นล้านบาท อย่างเช่น ธนาคารทหารไทย(TMB)ที่ประกาศขาย NPA และ NPL ประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าพอร์ตได้ถึง 6 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ก็จะส่งผลดีต่อผลประกอบการในปีหน้า
ปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างอัตราผลตอบแทน(yield) จากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเหล่านี้ที่ 15-25% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอุตสาหกรรมนี้ที่ 15-20%
*ปีหน้าเปลี่ยนวิกฤติโลกเป็นโอกาสดีขยายพอร์ต
นายศฤงคาร กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินและเศรษฐกิจของโลก ซึ่งไทยได้รับผลกระทบ บริษัทกลับมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะขยายธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่ม และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี ในขณะที่ธุรกิจอื่นย่ำแย่
"ในสถานการณ์แบบนี้ ที่ธุรกิจมีแนวโน้มหดตัว แต่จะทำให้เราได้บริหารพอร์ตสูงขึ้น ซึ่งดีกับธุรกิจบริหารสินทรัพย์แน่นอน โอกาสที่เจ้าของกิจการจะขายสินทรัพย์ก็มีสูงขึ้น ก็เปิดโอกาสให้เราเข้าไปซื้อ ในแง่ของเรามีความพร้อม ทั้งหนี้ขนาดใหญ่ และหนี้ขนาดเล็ก หรือรายย่อย แต่ความเร็วของการขายขึ้นกับผู้ขาย ซึ่งเป็นหนี้เสียมา 2-3 ปีแล้ว ส่วนหนี้ที่เสียตอนนี้จะขายในอีก 2-3 ปีให้หลังต่อไป" นายศฤงคาร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ดังนั้น ในปีหน้าบริษัทต้องเตรียมความพร้อมทั้งกำลังเงินและกำลังคน เพราะคาดว่าพอร์ตสินทรัพย์ใหม่มากขึ้นกว่าปีนี้ โดยระหว่างนี้บริษัทกำลังประเมินผู้ขายอยู่ มองว่าเป็นโอกาสที่บริษัทจะขยายตัวได้ดีในปีหน้าและเป็นโอกาสที่จะทำกำไร ท่ามกลางวิกฤติสถาบันการเงินโลก
ในปี 52 สัดส่วนรายได้บริษัทจะเปลี่ยนไป โดยรายได้จาดธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะขยายใหญ่มากขึ้น จากปีนี้ที่มีสัดส่วน 40% ของรายได้รวม ส่วนธุรกิจของบริษัท แคปปิตอล โอเค ก็คงหดตัวลงจากสัดส่วน 40% ขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินอีก 20% ก็คิดว่าจะยังคงสัดส่วนไว้ได้ตามเดิม เพราะยังทำรายได้ดีไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม
*ปรับกลยุทธ์ CAP OK หันบริหารพอร์ตหนี้รายย่อยแทน
นายศฤงคาร กล่าวว่า ปัจจุบัน CAP OK มีพอร์ตสินเชื่อก่อนตั้งสำรองที่ 1.4 พันล้านบาท ตอนนี้ตลาดชะลอตัวอย่างนี้บริษัทคงไม่คิดขยายแผน เพราะลูกค้าที่สมัครเข้ามามีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับผู้ประกอบการรายอื่น ดังนั้นแผนการขยายพอร์ตจึงต้องชะลอออกไปก่อน
พอร์ตทั้งหมดมีสัดส่วนเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 40% และตรเครดิต 40% ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจซื้อสินค้าผ่อนชำระ และเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ อย่างละ 10% ซึ่งส่วนใหญ่ NPL จะเกิดจากธุรกิจสองอย่างหลัง คาดว่า NPL ของพอร์ต CAP OK ในสิ้นปี 51 จะปรับลงมาที่ 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 12.9% และเมื่อต้นปี 51 สูงถึง 17%
ดังนั้น มองแนวโน้ม CAP OK ปีหน้าเปลี่ยนกลยุทธ์ไปขยายบริหารหนี้รายย่อย เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มชะลอตัว หลังจาก ACAP ซื้อหนี้ขนาดใหญ่เข้ามาและแบ่งให้บริหารหนี้รายย่อย จากปีนี้ที่ CAP OK เน้นธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและบัตรเครดิตเป็นรายได้หลัก ส่วนธุรกิจซื้อสินค้าผ่อนชำระและเช่าซื้อจักรยายนนต์ไม่ได้เติบโตมากนัก
"ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปีหน้าคงจะชะลอตัว แต่จะบุกก็รอดูตลาดก่อนแต่คาดว่ารายได้จากสินเชื่อส่วนบุคคลรายได้จะสูงกว่า ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะตั้งเป้าขยายพอร์ตเท่าไร และจะบริหารหนี้รายย่อยจะเพิ่มรายได้เข้ามาให้ CAP OK" นายศฤงคารกล่าว
ดังนั้น CAP OK ดำเนินธุรกิจตามสถานการณ์ทีเปลี่ยนแปลงไป เพราะที่ผ่านมายอดจัดเก็บหนี้ของบริษัทดีขึ้นมาตลอด จากสภานกรณ์ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ CAP OK ต้องปรับเปลี่ยนช่องทางหารายได้ ทั้งนี้ ธุรกิจบริหารหนี้รายย่อยจะดำเนินการผ่านบริษัทลูกคือ บริษัท โปรเฟชชั่นแนล คอลเลคชั่น จำกัด ซึ่งให้บริการจัดเก็บหนี้ให้กับ CAP OK อยู่แล้ว
*ปี 51 เชื่อกำไรจะดีกว่าปีก่อน
นายศฤงคาร กล่าวถึงผลประกอบการในปี 51 ว่า ปีนี้น่าจะออกมาดีกว่าปีก่อน หลังจากที่บริษัทเข้าซื้อ CAP OK มาเมื่อปลายปี 50 ทำให้คาดว่ารายได้จะได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 100% โดย 6 เดือนแรกบริษัทก็ทำรายได้แล้ว 920 ล้านบาทแล้ว จากทั้งปีก่อนที่ทำได้ 962 ล้านบาท
ส่วนกำไรสุทธิ คาดว่า ปีนี้จะทำได้สูงกว่าปีก่อนที่มี 185 ล้านบาท โดยจะมีกำไรจาก CAP OK มากกว่า 80% ขณะที่ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ บริษัทต้องตั้งสำรองทำให้เกิดผลขาดทุนในไตรมาส 2/51 จากการซื้อสินทรัพย์เข้าพอร์ตเพิ่ม แต่จะทยอยรับรู้สำรองกลับมาภายใน 2-3 ปี หลังจากบริหารหนี้ได้หมด
ในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีกำไร 24 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับกำไรปกติ หรือก่อนที่นับแบบมาตรฐานใหม่ หรือตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ ในงวด 6 เดือนบริษัททำได้แล้ว 144 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3//51 คาดว่าจะไม่ขาดทุน เพราะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่ม เนื่องจากะบริษัทไม่มีการซื้อสินทรัพย์ใหม่ เทียบกับไตรมาส 2/51 ที่ขาดทุน 54.75 ล้านบาท จากการตั้งสำรองสินทรัพย์ที่บริษัทซื้อสินทรัพย์เพิ่มจากธนาคารกสิกรไทย(KBANK)
นายศฤงคาร กล่าวว่า ในปีนี้ ทั้ง 3 ธุรกิจเติบโตได้อย่างมาก คาดว่าทำกำไรขั้นต้นโดยรวมได้ที่เฉลี่ย 35% ใกล้เคียงปีก่อน แม้ว่าในช่วงนี้จะเผชิญกับปัญหาวิกฤตการเงินของโลก แต่ไม่ได้เป็นปัญหากับบริษัท เพียงต้องปรับกลยุทธ์บ้างเท่านั้น
ACAP เป็นผู้บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอิสระรายเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันถือหุ้นใน บจ.เอเชียนอินเตอร์เนชั่นแนลแพลนเนอร์(AIP)99.99%, บจ.เอแคป เซอร์วิสเซส(ACS) 99.99% ,บจ.เอแคป(มาเลเซีย) 99.99% และ บจ.บริหารสินทรัพย์เอแคป(ACAP AMC) 99.99%, บจ.เอแคป คอนซัลติ้ง(ACON) 99.99% บจ.แคปปิตอล โอเค 50.99% และ บจ.บริหารสินทรัพย์สตาร์ (STAR AMC) 60%