ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ ฉุดดาวโจนส์ดิ่งเหว 733.08 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 16, 2008 06:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืนนี้ (15 ต.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอและบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอยเร็วกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น รวมถึงยอดค้าปลีกประจำเดือนก.ย.ที่ทรุดตัวลงเกินความคาดหมาย

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดทรุดลง 733.08 จุด หรือ 7.87% แตะที่ 8,577.91 จุด ดัชนี S&P 500 ปิดร่วง 90.17 จุด หรือ 9.03% แตะที่ 907.84 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดร่วง 150.68 จุด หรือ 8.47% แตะที่ 1,628.33 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.68 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 9 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.54 พันล้านหุ้น

นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นอย่างหนักหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนก.ย.ร่วงลง 1.2% แตะระดับ 3.755 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีพ.ศ.2548 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.7%

คริสเตียน โบรดา นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส แคปิตอล กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าใหม่ๆที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อาทิ รถยนต์ใหม่ และลดการท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมโดยรวมของเศรษฐกิจสหรัฐ

"บริษัทเอกชนและผู้บริโภคอาจจะเลื่อนแผนการลงทุนและการซื้อสินค้ารายการใหญ่ออกไป เพื่อรอให้สถานการณ์เศรษฐกิจมีความแน่นอนมากกว่านี้" โบรดากล่าว

ขณะที่รายงาน Beige Book ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่ของสหรัฐยังคงชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาในตลาดการเงินและปัญหาด้านสินเชื่อที่ทวีความรุนแรงจนกลายวิกฤตการณ์ที่ยากแก่การแก้ไข

นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้นเมื่อนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจในกรุงนิวยอร์กว่า "มาตรการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินที่รัฐบาลสหรัฐนำมาใช้นั้นถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญ แต่เรามองว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล"

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรการฟื้นฟูระบบการเงินเบื้องต้นมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการฟื้นฟูมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลจะใช้เม็ดเงิน 2.50 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธ์ของ 9 ธนาคารยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารซิตี้กรุ๊ป, ธนาคารเวลส์ ฟาร์โก, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, แบงค์ ออฟ อเมริกา, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, สเตทสตรีท คอร์ป,แบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป และเมอร์ริล ลินช์

มาตรการฟื้นฟูระบบการเงินเบื้องต้นมูลค่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐมีขึ้นหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ประกาศใช้มาตรการต้านวิกฤตการเงินทั่วโลก และพร้อมที่จะดำเนินการทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้เครื่องมือทั้งหมดที่สามารถหามาได้ เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในเชิงระบบ และป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ล้มละลาย

ส่วนในฝั่งยุโรปนั้น ที่ประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำยุโรปมีมติให้ใช้มาตรการรับมือกับปัญหาในระบบการเงินและจัดสรรงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องธนาคารในยุโรป ซึ่งครอบคลุมถึงการรับประกันเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ และจะใช้งบประมาณในรูปสกุลเงินยูโรรับมือกับภาวะสินเชื่อตึงตัวในตลาดและยับยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ