บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ยูนิเวนเจอร์ (UV) ที่ระดับ “BBB" และให้แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" หลังจากที่ยกเลิกเครดิตพินิจ “Developing" หรือ “ยังไม่ชัดเจน" ออกไป โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ตลอดจนรายได้ประจำที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำนักงานซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร กลยุทธ์ของบริษัทที่ชัดเจนซึ่งเน้นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และความสามารถในการรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจสังกะสีออกไซด์
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท อาทิ กระแสเงินสดที่ยังไม่สม่ำเสมอ ความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการบริเวณแยกถนนเพลินจิต-วิทยุ การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในด้านนี้ และภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความผันผวนของทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสังกะสีออกไซด์ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทยูนิเวนเจอร์จะสามารถพัฒนาและส่งมอบโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่องตามแผน โดยที่การเพิ่มภาระหนี้สินเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจควรมีการออกแบบและวางแผนเป็นอย่างดีเพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทยูนิเวนเจอร์ก่อตั้งในปี 2523 เพื่อประกอบธุรกิจสังกะสีออกไซด์ และต่อมาในปี 2543 ได้ขยายการดำเนินงานสู่ธุรกิจการลงทุนโดยเน้นด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงโดยได้ลงทุนในโครงการไปแล้ว 21 แห่ง ด้วยมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 บริษัทอเดลฟอสได้ให้เงินเพิ่มทุนจำนวน 452 ล้านบาทแก่บริษัทยูนิเวนเจอร์ พร้อมทั้งซื้อหุ้นเดิม ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนรวม 51.6% บริษัทอเดลฟอสก่อตั้งโดย
นายปณตและนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ซึ่งถือหุ้นคนละ 50% และดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในบริษัทยูนิเวนเจอร์ บริษัทยูนิเวนเจอร์ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเพิ่มการถือหุ้นใน บริษัท แกรนด์ยูนิตี้ดิเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (แกรนด์ยู) จาก 33.3% เป็น 60% และบริหารกิจการทั้งหมดโดยตรง ที่ผ่านมา แกรนด์ยูประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการคอนโดมิเนียมซึ่งบริหารจัดการโดย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
หลังจากนี้ บริษัทจะดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่านแกรนด์ยูโดยเริ่มที่โครงการยูสบายพระราม 4 ซึ่งเป็นโครงการแรกที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารโครงการ บริษัทมีแผนการขยายทีมงานด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรับบุคลากรเพิ่มเติมทั้งในด้านการพัฒนาโครงการ การขาย และการตลาด ในปี 2550 บริษัทได้ก่อตั้ง บริษัท เลิศรัฐการ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานแห่งแรกซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนวิทยุภายใต้สัญญาเช่าที่ดิน 30 ปี โดยมีการให้เช่าช่วงพื้นที่โครงการประมาณ 47% ของพื้นที่ขายแก่ บริษัท ทีซีซี ลักซ์ชูรีโฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด เพื่อพัฒนาโรงแรมระดับ 5 ดาว
ทั้งนี้ ความท้าทายของบริษัทคือการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องและดำเนินโครงการบริเวณแยกถนนเพลินจิต-วิทยุให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างรายได้ที่แน่นอน
บริษัท ยูนิเวนเจอร์มีรายได้จากธุรกิจสังกะสีออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2549 เนื่องจากราคาสังกะสีออกไซด์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าและคงราคาอยู่ในระดับสูงในปี 2550 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของสังกะสีออกไซด์ปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 7%-10% ระหว่างปี 2549-2551 จากระดับที่ต่ำกว่า 5% ในอดีต ทำให้กระแสเงินสดของบริษัทเพื่มขึ้นถึงประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับช่วงปี 2549-2550 จาก 10-20 ล้านบาทในช่วงปี 2547-2548
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เนื่องจากบริษัทยูนิเวนเจอร์มีภาระหนี้สินที่น้อยมากจึงส่งผลให้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งแม้จะมีอัตรากำไรในระดับต่ำก็ตาม ในปี 2549 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มเป็น 8.1% จาก 5.7% ในปี 2548 เนื่องจากธุรกิจสังกะสีออกไซด์มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น อีกทั้งบริษัทยังรับรู้ผลกำไรจากโครงการของกองทุนอสังหาริมทรัพย์กินนรีด้วย ต่อมาบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงเป็น 6.4% ในปี 2550 และ 5.5% สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2551 เนื่องจากผลจากการบันทึกขาดทุนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 12.7% ในปี 2548 เหลือ 0.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 แต่คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการที่แกรนด์ยูและบริษัทเลิศรัฐการมีแผนการกู้ยืมเงินเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัทในอนาคต อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มสูงขึ้นตามแผนการกู้ยืมเพื่อลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่น่าจะมีปัญหา
ด้านสภาพคล่องในระยะสั้นถึงปานกลางเนื่องจากมีการวางแผนการเงินที่เหมาะสม บริษัทเลิศรัฐการจะไดัรับเงินสนับสนุนการก่อสร้างจากบริษัททีซีซี ลักซ์ชูรีโฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ทและเงินกู้จากบริษัทยูนิเวนเจอร์ก่อนที่จะใช้เงินกู้จากธนาคารซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ย ส่วนแกรนด์ยูนั้นจะจัดหาวงเงินกู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการก่อนเปิดโครงการ ทั้งนี้ การมีผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทสามารถหาแหล่งเงินกู้ได้สะดวกขึ้นและได้รับเงื่อนไขการกู้ยืมที่ดีซึ่งช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน ดังนั้น การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัท