บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือน กันยายน 2551 มีปริมาณการขาย 47,881 คัน ลดลง 10.5% นับว่าเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยตลาดรถยนต์ยังถูกแรงฉุดสำคัญมาจากรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย ลดลงถึง 22.8% เหลือ 29,194 คัน เนื่องราคาน้ำมันดีเซลที่ยังมีราคาสูงกว่าน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ ชนิด E10 และ E20 ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ วิกฤตการเงินในสหรัฐส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคยังชะลอการซื้อ
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์นั่งยังมีสถานการณ์ที่ดี เดือน ก.ย. ยังมีการขยายตัวสูงเท่ากับ 19.1% เป็น 18,687 คัน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความนิยมในรถยนต์ E20 และ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ก่อนหน้านี้ เช่น โคโรล่า อัลติส และ ฮอนด้า แจ๊ส ทางด้านสถิติการขายสะสม 9 เดือนแรกของปี 2551 เท่ากับ 461,258 คัน ขยายตัว 2.2% แบ่งเป็นตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 294,881 คัน ลดลง 8.5% และ ตลาดรถยนต์นั่ง เท่ากับ 166,377 คัน เพิ่มขึ้น 28.8%
บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ความต้องการในประเทศที่ยังหดตัว โดยเฉพาะรถกระบะปิกอัพ จากปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมีมุมมองในระยะสั้นเป็นลบ แต่แรงกดดันในด้านต้นทุนวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก และ พลาสติก รวมถึงต้นทุนด้านพลังงาน ได้ผ่อนคลายลงมาก จากราคาวัตถุดิบรวมถึงน้ำมันได้ทรุดลงอย่างหนัก
ในขณะที่แนวโน้มในปีหน้าคาดตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยจะถูกกระทบจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินของโลก และ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ยังคงมุมมองในระยะยาวที่เป็นบวก จากค่ายรถยนต์ต่างๆได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศ รวมถึงการประกาศแผนการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นอีกถึง 658,000 คัน เทียบกับยอดผลิตรถยนต์ในปีก่อน 1.29 ล้านคัน คาดจะช่วยหนุนศักยภาพหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระยะยาว
สำหรับกลุ่มยานยนต์ ที่ยังแนะนำ "ซื้อ" และยังมีผลประกอบการที่โดดเด่นในกลุ่มคือ SAT (ราคาเหมาะสม 18.0 บาท) และ STANLY (ราคาเหมาะสม 170 บาท) อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดส่งออกรถยนต์ที่จะถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกในปีหน้ากำลังพิจารณาปรับประมาณการ และราคาเหมาะสมลดลง