นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า วิกฤติการเงินโลกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ BBL คือเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บาร์เธอร์ส ประมาณ 3.5 พันล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 4/51 ธนาคารจะตั้งสำรองเงินลงทุนดังกล่าวทั้ง 100%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้คงไม่เกิดปัญหากับสถาบันการเงินในต่างประเทศถึงขั้นล้มละลายอีกแล้ว เนื่องจากรัฐบาลของทุกประเทศต่างก็มีมาตรการที่จะเข้าไปพยุงฐานะของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและนักลงทุน ดังนั้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในขั้นรุนแรงก็น่าจะจบไปแล้ว
ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทลูกของ FerroChina ในประเทศจีนเป็นเงินจำนวนประมาณ 120 ล้าน RMB(ประมาณ 600 ล้านบาท) ที่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้นั้น เป็นการสินเชื่อตามการทำธุรกิจปกติของธนาคาร ไม่ได้นับเป็นเงินลงทุน โดยการอำนวยสินเชื่อดังกล่าวเป็นการทำร่วมกับธนาคารหลายแห่งและมีหลักประกันคุ้มค่า รวมทั้งธนาคารก็ได้ตั้งสำรองเผื่อไว้อยู่แล้วตามนโยบาย
"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เบามาก ไม่น่าจะมีผลกระทบกับธนาคาร ไม่ใช่การลงทุนในกิจการที่มีปัญหาล้มละลาย"นายโฆสิต กล่าว
นอกจากนั้น ธนาคารยังมองว่าการทำธุรกิจของธนาคารในประเทศจีน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ ไม่ได้เสี่ยงมาก และเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ก็คาดว่ายังเติบโตสูงถึง 10% แต่ธนาคารก็จะดูแลให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ส่วนบางรายอาจมีปัญหาบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
นายโฆสิต กล่าวด้วยว่า จากปัญหาการปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจในจีนไม่ได้กระทบต่อยุทธศาสตร์การปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแผนระยะยาวของ BBL เนื่องจากธนาคารมีความระมัดระวังต่อการปล่อยสินเชื่อมาตลอด 5-6 ปีแล้ว
"แผนการปล่อยสินเชื่อต่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมาโดยตลอด เพราะผมพูดมาตลอดว่า ขณะนี้มีความไม่สมดุลของเศรษฐกิจการเงินโลก และได้มีการจัดทำแนวทางรองรับผลกระทบดังกล่าวมา 5-6 ปีแล้ว" นายโฆสิต ระบุ
ทั้งนี้เชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อของ BBL ในต่างประเทศไม่น่าจะเกิดปัญหาอีก ซึ่งพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ที่จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน แต่มองว่าวิกฤติการเงินโลกที่จะกระทบต่อสถาบันการเงินน่าจะมีข้อยุติแล้ว แต่คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคธุรกิจจะมีมากน้อยหรือไม่ เพราะไม่สามารถแยกออกได้ว่าธุรกิจที่มีปัญหาเกิดจากวิกฤติการเงินหรือเกิดจากการดำเนินธุรกิจขององค์กรเอง
อย่างไรก็ตาม BBL ได้แจ้งเตือนให้ลูกค้าปรับตัวเพื่อรองรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยเน้นการควบคุมต้นทุนการผลิตและผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพ ซึ่งมองว่าในยุคที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนนั้นการก่อหนี้มากเกินตัวจะเกิดอันตรายได้ เพราะต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ย ขณะที่รายได้จะซบเซาลงตามภาวะเศรษฐกิจ
นายโฆสิต ยังมองว่า จากวิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอนทั้งแง่การส่งออก ระดับราคาสินค้าที่ลดลง ขณะที่ไทยเองยังมีปัญหาภายในประเทศที่อยู่ในระดับรุนแรงจนนำไปสู่ความสูญเสีย และส่งผลกระทบถึงภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นคาดว่าในปี 52 เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงจากปีนี้แน่นอน โดยได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจในประเทศหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอีก
การที่รัฐบาลประกาศนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจ แต่มองว่าสิ่งสำคัญคือเรื่องการปฏิบัติ เพราะหากนโยบายดีแต่การปฏิบัติไม่ดีก็จะไม่เกิดผล นอกจากนี้ยังเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องเร่งโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กท์ซึ่งถือว่ามีความพร้อมมากที่สุดที่จะลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ เพราะขณะนี้การเดินหน้าโครงการดังกล่าวมีความล่าช้ามาก
ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจนั้นเชื่อว่าจะเห็นผลได้ช้า และไม่ได้เกิดผลต่อเศรษฐกิจอย่างทันทีตามที่ต้องการ เนื่องจากขณะนี้ในตลาดการเงินเองต่างมีการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อเร่งหาสภาพคล่อง และเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจให้แก่ลูกค้าอยู่แล้ว