พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ดีเอสไอมีความเห็นให้สั่งฟ้องนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัล(TPI) หรือ ปัจจุบันคือบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC)พร้อมพวกรวม 5 คน ถ่ายเทเงินจากบริษัทด้วยการปล่อยกู้จำนวน 13,000 ล้านบาทให้กับบริษัทในกลุ่มของตนเอง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ TPI ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนสำนักคดีการเงินการธนาคาร นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 76/2549 โดย พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะกรรมการ IRPC หรือ TPI เดิม เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายประชัย, นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์, นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์, นายชัยณรงค์ แต้ไพสิฐพงษ์ และนายประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 1-5
เนื่องจากตรวจสอบพบว่า ระหว่างปี 2538-2543 ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นกรรมการและผู้บริหาร TPI มีพฤติการณ์ ถ่ายเทเงินด้วยการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มบริษัทที่พวกตนร่วมเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย บริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด บริษัท ทีพีไอ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ทีพีไออีโออีจี จำกัด และบริษัทโรงงานฝ้ายสระบุรี จำกัด
ต่อมามีการทำเอกสารระบุว่า บ.พรชัยวิสาหกิจ บ.ทีพีไอโฮลดิ้ง และบ.ทีพีไออีโออีจี ได้ซื้อหุ้นของบริษัทเลี่ยวไพรัตน์ วิสาหกิจ ในราคาหุ้นละ 5,500 บาท จนเป็นเหตุทำให้บริษัททั้ง 3 แห่งซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้ของ TPI มีหนี้สินล้นพ้นตัว ความสามารถในการชำระหนี้ลดน้อยลง จนทำให้ TPI ได้รับความเสียหายถึง 13,000 ล้านบาท
ดีเอสไอจึงมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดตามมาตรา 307 และมาตรา 311 และ 312 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และฟ้องผู้ต้องหาที่ 5 ฐาน กระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการหรือผู้จัดการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลให้กระทำความผิด