บล.ภัทร มองหุ้นใกล้จุดต่ำสุดหลังเห็นต่างชาติชะลอขายแต่ไม่มั่นใจการเมือง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 21, 2008 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.ภีทร (PHATRA) มองตลาดหุ้นไทยใกล้จุดต่ำสุด แต่ยังผันผวนจากความไม่มั่นใจด้านการเมือง และมีสัญญาณชะลอการขายของต่างชาติ ขณะเดียวกันมองว่าปี 52 เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวแต่มองแย่กว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมิน พร้อมระบุให้ปล่อยเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาด หากก.คลังเช้ามาแทรกแซงการส่งออกจะมีปัญหา

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล. ภัทร กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่จุด bottom แล้วแต่ยังมีความผันผวนเนื่องจากนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นปัจจัยการเมือง ขณะเดียวกันเห็นว่าต่างชาติยังถือหุ้นไทยรวมกันถึง 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 1 แสนล้านบาทตามที่กระทรวงการคลังเปิดเผย เฉพาะ บมจ.ปตท.(PTT )ตัวเดียวก็ ถือไป 1 แสนล้านบาทแล้ว และไม่ทราบเจตนาของก.คลังที่เปิดเผยตัวเลขเท่านั้น

"แต่ไม่ต้องกังวลว่าต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกมา จะเห็นแรงเทขายของต่างชาติเริ่มน้อยลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากที่ผ่านมาต้องการเงินสดเพื่อไปแก้ปัญหาหนี้เสียในประเทศ แต่ปัจจุบันปัญหาเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลดลงและต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานและสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการซื้อขายในแต่ละวัน...แต่ตอนนี้ปัญหาหลักที่ส่งผลต่อตลาดทุนไทยคือปัญหาการเมือง ต้องแกั้ปัญเรื่องนี้และเรียกความเชื่อมั่นกลับมาก่อน"นายศุภวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ นายศุภวุฒิ เสนอให้บริษัทเอกชนควรจะใช้ช่องทางในตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนมากกว่าการระดมทุนผ่านสถาบันการเงืนที่จะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นและเป็นการส่งเสริมตลาดอีกด้วย

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 52 บล.ภัทร อยู่ระหว่างการประเมินแต่เชื่อว่าอาจจะน้อยกว่าที่ ธปท. ประเมินจีดีพีปีหน้าไว้ที่ 3.8-5.0% แต่การประเมินตัวเลขจะไม่เป็นตัวเลขติดลบอย่างแน่นอน

"ภาคการส่งออกในปี 52 จะติดลบ ส่วนการท่องเที่ยวประเมินว่าจะชะลอไม่เติบโตและถือว่าปี 52 จะเป็นปีที่ต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยและจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 52"

อย่างไรก็ตาม ก็ยังน่าเป็นห่วง การใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวลดลงเหลือแค่ 2.5% ถือว่าต่ำมากเพราะเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 การบริโภคภายในประเทศยังอยู่ระดับ 4% ส่วนปัญหาเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยในระยะ 6-10 เดือน คาดว่า ธปท.จะไม่ลดดอกเบี้ยเพราะไม่เกิดประโยชน์ด้านการลงทุนเพราะภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่น

เรื่องค่าเงินที่ก.คลังจะมีการแทรกแซงเพื่อจะส่งออก โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์เนื่องจากมองว่าควรปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาด แม้ว่าการลดค่าเงินบาทเพื่อเป็นการลดราคาสินค้าทางอ้อมก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนอกจากนี้วิกฤตการเงินในสหรัฐและยุโรปประเมินว่าจะมีอีก 10 ประเทศในยุโรปตะวันออกที่ได้รับผลกระทบและจะเกิดวิกฤตตามมา ดังนั้นประเทศไทยควรพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐโดยเน้นโครงการเล็กๆ เช่น ชลประทานเพื้อช่วยภาคการเกษตร, การทำ 3G ถือว่าจะเร่งการเติบโตของประเทศได้ดีกว่า

ส่วนราคาน้ำมันแม้ว่าจะลดความกดดันลงได้ แต่มองว่าราคาน้ำมันจะไม่ต่ำกว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว เพราะประเมินต้นทุนของการผลิตน้ำมันอยู่ในระดับนี้และรัฐควรยกเลิกการอุดหนุนด้านพลังงานทั้งหมด และปล่อยให้ราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ