SSI แจงขาดทุน Q3/51 จากตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1.36พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 30, 2008 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ระบุว่า สาเหตุที่ผลประกอบการไตรมาส 3/51 พลิกมาเป็นขาดทุนถึง 1,369.0 ล้านบาท เปรียบเทียบไตรมาส 3/50 ที่มีกำไรสุทธิ 256.0 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือจำนวน 1,357.6 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเผื่อการลดมูลค่าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจำนวน 288.1 และ 1,069.5 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปี 50 บริษัทตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าสำเร็จรูปเพียง 12.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจากเมื่อต้นปี 51 และในระหว่างไตรมาส 3/51 ราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงอย่างมากและรวดเร็ว บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาที่รุนแรง ทั้งนี้บริษัทได้ดำเนินการในการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างระมัดระวัง แต่โดยการดำเนินธุรกิจตามปกติจำเป็นต้องมีสินค้าคงคลัง ซึ่งประกอบด้วยวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจำนวนหนึ่งเพื่อให้การขายและการผลิตดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ภายใต้ภาวะการณ์ที่ราคาตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จึงมีผลกระทบในเชิงลบบริษัทได้ถือปฏิบัติให้มีการตีราคาตามราคาตลาดที่คาดว่าจะขายได้ ส่งผลให้ต้องมีการตั้งค่าเผื่อมูลค่าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้จากการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน จำนวน 6,699.8 ล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาส 3/50 ที่มี 5,632.9 ล้านบาท เป็นผลจากราคาขายตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาขายต่อหน่วยของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 นอกจากนี้บริษัทมีรายได้จากการขายเศษเหล็กจำนวน 174.1 ล้านบาท เปรียบเทียบกับยอดขายในไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีจำนวน 128.1 ล้านบาท

บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการ จำนวน 362.3 ล้านบาท เปรียบเทียบกับกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการจำนวน 636.2 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปี 2550 โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาวัตถุดิบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (ไม่รวมดอกเบี้ยจ่าย) ของบริษัทและบริษัทย่อย มีจำนวน 236.6 ล้านบาท ซึ่งรวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 19.9 ล้านบาท เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในไตรมาสเดียวกันของปี 2550 จำนวน 201.7 ล้านบาท เป็นผลมาจากการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย และค่าธรรมเนียมการกู้ยืมเงินระยะยาวเพื่อการลงทุน

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/51 บริษัทโอนกลับขาดทุนจากการด้อยค่าของที่ดิน 0.3 ล้านบาท เนื่องจากสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สาขาบางสะพานได้มีหนังสือแจ้งมายังบริษัทได้พิจารณาแล้วว่าสำนักงานที่ดินฯไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนสิทธิในการครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของบริษัทฯจำนวน 1 แปลง

ดอกเบี้ยจ่ายสำหรับเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวมีจำนวน 145.2 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทและบริษัทย่อยจำนวน 132.2 และ 13.0 ล้านบาท ตามลำดับ เปรียบเทียบกับดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาส 3/50 จำนวน 226.9 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทและบริษัทย่อยจำนวน 213.7 และ 13.2 ล้านบาท ตามลำดับเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นที่ปรับตัวลดลง

ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทย่อย มีจำนวน 3.2 ล้านบาท เปรียบเทียบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทย่อยในไตรมาสเดียวกันของปี 2550 จำนวน 4.8 ล้านบาท



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ