ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (30 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับธนาคารกลางทั่วโลกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อปกป้องเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย อย่างไรก็ตาม แรงบวกในตลาดถูกสกัดลงหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสสามที่หดตัวลงอย่างรุนแรง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่ง 189.73 จุด หรือ 2.11% แตะที่ 9,180.69 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 24.00 จุด หรือ 2.58% แตะที่ 954.09 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 41.31 จุด หรือ 2.49% แตะที่ 1,698.52 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.38 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.54 พันล้านหุ้น
อลัน เกล นักวิเคราะห์จากบริษัท RidgeWorth Capital Management กล่าวว่า "นักลงทุนคลายความวิตกกังวลหลังจากธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเศรษฐกิจไม่ให้เผชิญภาวะถดถอย นอกจากนี้ เฟดและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังอัดฉีดสภาพคล่องให้กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนับเป็นการดำเนินการครั้งสำคัญ"
ภาวะการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กและตลาดหุ้นทั่วโลกคึกคักขึ้น หลังจากเฟดมีมติลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 1.00% และลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.50% สู่ระดับ 1.25% โดยมีเป้าหมายสกัดกั้นเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยและเพื่อสกัดกั้นวิกฤตการณ์ด้านการเงินไม่ให้ลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายในภาคส่วนอื่นๆ
ขณะที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ลงอย่างละ 0.27% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่สามในรอบสองเดือน ด้านธนาคารกลางฮ่องกงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนลง 0.50% สู่ระดับ 1.50% และธนาคารกลางไต้หวันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25% สู่ระดับ 3.00% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ในวงกว้างว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายวันศุกร์ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษก็อาจจะลดดอกเบี้ยเช่นกัน
นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เฟดยังได้ทำข้อตกลงอัดฉีดสภาพคล่องเป็นวงเงินรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารกลางเกาหลีใต้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ ธนาคารกลางบราซิล และธนาคารกลางเม็กซิโก ผ่านธุรกรรมการทำสว็อปค่าเงิน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เฟดตัดสินใจกระตุ้นสภาพคล่องให้กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไอเอ็มเอฟจัดตั้งกองทุนสินเชื่อระยะสั้นให้แก่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่กำลังถูกกระทบจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ลุกลามไปทั่วโลก
นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐกล่าวยกย่องความพยายามของไอเอ็มเอฟและเฟดในครั้งนี้ว่า "ไอเอ็มเอฟและเฟดกำลังทำให้ทั่วโลกเห็นว่าองค์กรทั้งสองแห่งพยายามสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ หลังจากที่ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดการเงินทั่วโลก"
อย่างไรก็ตาม แรงบวกในตลาดถูกสกัดลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าจีดีพี หดตัวลง 0.3% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการติดลบรุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายและภาคธุรกิจลดการลงทุน