นายประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) หรือ SPPT เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด (SPEE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SPPT ว่ามีแนวโน้มที่สดใส หลังจากที่ได้ติดตั้งเครื่องจักรนำร่อง ณ เทศบาลนครระยอง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วกว่า 90% และคาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนธันวาคมนี้
SPEE เป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดิบ ซึ่งบริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท Northern Technology International ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอินโดจีนที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการนำเข้านวัตกรรม ในการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดิบซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศโปแลนด์
ล่าสุด 16 อปท.ประจวบคีรีขันธ์ตอนเหนือได้บรรลุข้อตกลงรับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน และให้ SPEE นำเทคโนโลยีแปรรูปขยะพลาสติดเป็นน้ำมัน หรือ Polymer Energy Technology เครื่องที่ 2 มาติดตั้งโดยมีเทศบาลเมืองหัวหินเป็นแกนนำ ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งเสร็จและผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2552 โดยสามารถรองรับขยะพลาสติกได้มากถึง 10 ตันต่อวัน และจะผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 5,000-7,500 ลิตร หรือประมาณ 30-47 บาร์เรล( ขึ้นอยู่กับความสะอาดของพลาสติก)โดยน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จะแบ่งเป็น เบนซิน 20% ดีเซล 50% และน้ำมันเตา 30%
"หลังจากที่ติดตั้งเครื่องจักรนำร่องที่เทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองหัวหินเป็นเครื่องที่ 2 ถือเป็น การส่งสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตที่ดีในอนาคต โดยคาดว่าในปี 2552 จะสามารถขายเครื่องจักร Polymer Energy เพิ่มได้อีกไม่ต่ำกว่า 5 เครื่องซึ่งจะทำให้ SPEE มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสารเร่งปฎิกิริยาและการดูแลซ่อมบำรุง ซึ่งจะส่งเป็นผลบวกกับ SPPT ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ SPEE ด้วย" นายประพจน์กล่าวในที่สุด
ด้าน นายพีระพล สาครินทร์ หัวหน้าคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานให้ความสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อการสร้างพลังงานทางเลือกเสมอซึ่ง Polymer Energy Technology เป็นอีกทางเลือกที่สำคัญทำให้ได้รับพลังงานน้ำมันจากกระบวนการแปรรูปขยะพลาสติก ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝังอยู่ใต้ดินจะสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันที่มีคุณค่าต่อท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยมีวัตถุดิบที่สามารถนำมาแปรรูปได้หลายสิบล้านตัน ทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบได้ 7-10% คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท
นางสันติวิภา พานิชกุล กรรมการบริหาร บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด (SPEE) กล่าวเสริมว่าเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกโดยวิธีการโพโรไลซิส ด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาพิเศษแบบต่อเนื่อง จะไม่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทั้งทางเสียงและกลิ่นกับชุมชน โดยได้รับรางวัลชนะเลิศการประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปในปี 2006