KCE เผยรง.KCEI หยุดผลิตแค่ 2-3 เดือนเร่งหาออร์เดอร์ใหม่ป้อน รับกระทบเป้าปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 3, 2008 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. เคซีอี อิเลคโทรนิคส์(KCE)คาดว่าโรงงาน KCE International(KCEI)ที่หยุดการผลิตชั่วคราวจะกลับมาผลิตตามปกติได้ภายใน 2-3 เดือน หลังจากได้รับผลกระทบออร์เดอร์จากอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัว ซึ่งขณะนี้บริษัทก็กำลังเร่งหาออร์เดอร์จากธุรกิจอื่นเข้ามาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากระทบกับเป้ารายได้ในปีนี้บ้าง

นายปัญจะ เสนาดิสัย กรรมการ KCE เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทพยายามหาออร์เดอร์จากอุตสาหหรรมทีวีเข้ามาทดแทน เพราะแผงวงจรที่ KCEI ผลิตได้ใช้ได้กับธุรกิจหลายๆ อย่าง รวมถึงโทรคมนาคม บริษัทก็จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงสายการผลิตของ KCEI ไปด้วย

"ออร์เดอร์ชะลอลงลงนิดหน่อยเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่หวังว่าคงไม่นาน และบริษัทก็จะพยายามหาธุรกิจอื่นมาเพิ่มเติม" นายปัญจะ กล่าว

อนึ่ง KCEI ตั้งโรงงานอยู่ที่บางปู จ.สมุทรปราการ หยุดการผลิตชั่วคราวหลังจากได้รับคำสั่งซื้อแผ่นพิมพ์วงจร(PCB)ประเภท Double Size ลดลง

นายปัญจะ กล่าวว่า การหยุดผลิตชั่วคราวครั้งนี้ อาจจะทำให้กำลังการผลิตโดยรวมลดลงไปเล็กน้อยในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.51 ส่งผลให้เป้ารายได้ของปีนี้อาจได้รับผลกระทบบ้าง ขณะที่วิกฤตการเงินโลกถึงแม้จะไม่กระทบบริษัทโดยตรง แต่กระทบลูกค้าในอุตสาหกรรมรถยนต์จึงส่งผลมาถึงบริษัทด้วย ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่น่าจะมีออเดอร์ยกเลิกอีกแล้ว และผลกระทบก็น่าจะมีแค่ไม่เกิน 2-3 เดือนเท่านั้น ไม่น่าจะยาวนาน

"เป้ารายได้ของปีนี้ อาจจะมีผลกระทบลดลงเล็กน้อยถ้าเราลดกำลังการผลิตในส่วนรถยนต์ไป...ผมคิดว่าอุตสาหกรรมทุกชนิดที่ส่งออก อาจจะโดนคล้ายๆ ผมเหมือนกัน" นายปัญจะ ระบุ

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร KCE คาดการณ์ไว้ว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 20% มาที่ 290 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่โบรกฯคาดรายได้ปี 51 ที่ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายปัญจะ กล่าวว่า แม้รายได้ในปีนี้อาจไม่ได้ตามเป้า แต่สำหรับภาพรวมผลประกอบการยังคาดว่าจะมีกำไรเล็กน้อย เพราะเงินบาทคงจะมีส่วนช่วยได้ ส่วนจะมีกำไรเท่าใดยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากช่วงค่าเงินบาทยังผันผวนอยู่

สำหรับปัญหาที่มีพนักงานของบริษัท แอลพีเอส บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เรือนวรรณ บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด ไปร้องเรียนกระทรวงแรงงานว่าถูก KCE เลิกจ้างจำนวน 780 คนนั้น นายปัญจะ กล่าวว่า KCE ยกเลิกจ้างพนักงานชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่พนักงานประจำของ KCE หรือ KCEI แต่เป็นพนักงานของบริษัทซับคอนแทรค ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของบริษัทดังกล่าว

"เราซับคอนแทรกให้บริษัทเอ บริษัทเอก็ควรจะไปรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับบริษัท เช่น เวลานี้เราจะไม่ต้องการคนเท่านี้ หน้าที่ของบริษัทเอก็ต้องย้ายคนของเค้าไปทำที่อื่น ไม่ใช่พนักงานประจำ เป็นพนักงานที่เราซับคอนแทรค พนักงานประจำไม่ได้เลย์ออฟเลย"นายปัญจะ กล่าว

บทวิเคราะห์ของบล.ดีบีเอสวิคเกอร์(DBSV) ประเมินว่า ความเสียหายคือ กำลังการผลิตในส่วน KCEI เป็นสัดส่วน 23% ของทั้งกลุ่มที่ 1.9 ล้านตารางฟุตต่อเดือน แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าคำสั่งซื้อจะหายไปนานเพียงใดสำหรับ KCE คาดว่าผลการดำเนินงานในปี 51 และ 52 นั้นน่าผิดหวังเป็นขาดทุนสุทธิทั้งสองปีคือ 21 และ 51 ล้านบาท ตามลำดับ เทียบกับปี 50 ที่มีกำไรสุทธิ 257 ล้านบาท

และปัจจัยที่น่ากังวลคือ 1) ความเสี่ยงด้านการเงินที่สูง คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนปลายปีนี้ที่ 2.2 เท่า ขณะที่หลักทรัพย์อื่นๆ ส่วนใหญ่ในหมวดนี้มีฐานะเป็นเงินสดสุทธิ 2) ยอดขายบริษัทพึ่งพิงตลาดส่งออกที่กำลังมีปัญหาคือ ยุโรป 64% และสหรัฐ 19% รวมเป็น 83% และ 3) ความสามารถในการควบคุมอัตราของเสียในการผลิต

ส่วนราคาพื้นฐานเป็น 1.51 บาท ประเมินด้วย P/BV ปี 52 ที่ 0.3 เท่า ที่กำหนดให้น้อย เพื่อสะท้อนความเสี่ยงต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ