ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (3 พ.ย.) โดยบรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซาในขณะที่นักลงทุนให้ความสนใจต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4 พ.ย. และไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อมูลด้านการผลิตที่ซบเซาของสหรัฐมากนัก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 5.18 จุด หรือ 0.06% แตะที่ 9,319.83 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 2.45 จุด หรือ 0.25% แตะที่ 966.30 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 5.38 จุด หรือ 0.31% แตะที่ 1,726.33 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.02 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 9 ต่อ 7 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 1.81 พันล้านหุ้น
สตีเฟน มาสซอคคา นักวิเคราะห์จาก Pacific Growth Equities กล่าวว่า นักลงทุนแทบจะไม่ให้ความสนใจกับข้อมูลของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ของสหรัฐที่ระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมด้านการผลิตของโรงงานทั่วประเทศร่วงลงสู่ระดับ 38.9 จุด ในเดือนต.ค. จากเดือนก.ย.ที่ระดับ 43.5 จุด ซึ่งดิ่งลงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 41.5 จุดในเดือนต.ค.
"นักลงทุนจับตาดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หลังจากมีการหยั่งเสียงนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทว่า หากบารัค โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครตสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งวันที่ 4 พ.ย. จะทำให้เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีท มากกว่าจอห์น แมคเคน ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน" มาสซอคคากล่าว
จากการสำรวจในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า มูลค่าพอร์ทการลงทุนในหุ้นจะพุ่งขึ้นหากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง โดยข้อมูลจากบริษัท Bespoke Investment Group ระบุว่าในช่วงระยะเวลา 7 ครั้งที่พรรคเดโมแครตครองอำนาจทางการเมืองในสหรัฐ อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเป็นทั้งประธานาธิบดี และครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 14.7% โดยเฉลี่ย ขณะที่ในช่วงระยะเวลา 8 ครั้ง ที่พรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นเพียง 7.4%
ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า โอบามา มีคะแนนนำแมคเคนอยู่ 7 จุด ในช่วง 5 วันที่เหลือก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 4 พ.ย. โดยโอบามามีคะแนนนำแมคเคน 50 ต่อ 43% ในการสำรวจทั่วประเทศทางโทรศัพท์เป็นเวลา 3 วัน และยังบ่งชี้ว่าพรรคเดโมแครตก็มีแนวโน้มว่าจะครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส
มาสซอคคายังกล่าวด้วยว่า "ประชาชนที่ตกงานเกือบ 1 ล้านคน ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลง ตลาดหุ้นที่ทรุดตัวลง และภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้บริโภคและภาคเอกชนในสหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกำลังท้าทายประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ"
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) เดือนต.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะร่วงลงอีก 200,000 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และคาดว่าดัชนีภาคการผลิตจะทรุดตัวลงรวดเร็วสุดในรอบ 7 ปี
รัสเซลล์ ไพรส์ นักวิเคราะห์จาก H&R Block Financial Advisors คาดการณ์ว่า "จำนวนคนตกงานในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากวิกฤตสินเชื่อกำลังลุกลามเข้าไปแทบจะทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เป็นปัจจัยในการประกอบการพิจารณาเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ของพวกเขา"