บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิส(UMS)เดินหน้าแผนร่วมทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย คาดสรุปได้ในปี 52 จากที่เจรจาอยู่ 3-4 ราย พับแผนลงทุนขยายท่าเทียบเรือ-คลังสินค้าในปี 52 หลังเห็นสัญญาณการส่งออกชะลอตัว แต่ยังให้บริการไปตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยหวังช่วยลดต้นทุนได้ปีละ 12 ล้านบาท
ผู้บริหารมั่นใจรายได้ในปี 51 โตสูงกว่าเป้า 30% และยังโตต่อเนื่องในปีหน้า เพราะยังรักษาลูกค้าที่มีอยู่กว่า 400 รายไว้ได้แม้ราคาน้ำมันปรับลดลงแล้ว แต่ราคาถ่านหินยังถูกกว่ามาก ส่วนโครงการเครื่องจักรแปรรูปถ่านหินเป็นก๊าซจะเริ่มทดลองกับอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมายกลุ่มแรกในต้นปี 52
*คาดสรุปลงทุนเหมือนถ่านหินในอินโดฯ ปีหน้า
นายปิยะ ตันธนพิพัฒน์ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการลงทุน UMS กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทยังเดินหน้าแผนร่วมทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย แต่ก็ขึ้นกับจังหวะและความลงตัวในหลายๆ ด้าน คาดว่าน่าจะสรุปในปีหน้า เพราะปีนี้เหลืออีกแค่ 2 เดือนคงไม่สามารถสรุปได้ทันแล้ว
"ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเจรจาก็คุยกันไปเรื่อยๆ กับ 3-4 ราย แต่ปีนี้คงไม่ทัน ต้องดูจังหวะว่าจังหวะไหนการเจรจาตกลงราคาว่าการซื้อเหมืองควรจะราคาเท่าไหร่...มันเป็นการลงทุนแบบ Long Term เพราะฉะนั้น ก็เหมือนคนเป็นแฟนกว่าจะแต่งงานกันก็ต้องศึกษากันไปก่อน"นายปิยะ กล่าว
นายปิยะ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจท่าเทียบเรือและคลังสินค้าในปี 52 ยังจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะมองว่าธุรกิจนำเข้าส่งออกคงจะไม่ค่อยสดใสนัก และรายได้หลักของ UMS ยังมาจากถ่านหินเกือบ 100%
ธุรกิจท่าเทียบเรือฯ ทำรายได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะเป็นธุรกิจเสริมที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 1 ล้านบาทแทนที่จะต้องไปเช่าเท่าเทียบเรืออื่น หรือลดต้นทุนโดยรวมอย่างน้อยปีละประมาณ 12 ล้านบาท นอกจากนั้นยังให้บริการขนส่งสินค้าให้กับผู้ส่งออก เช่น สินค้าเกษตร ปุ๋ย เพราะในอยุธยามีท่าเรือไม่เพียงพอกับความต้องการ
"เนื่องจากเรามีคลังสินค้าของตัวเองแต่ต้องไปเช่าท่าเทียบเรือคนอื่น เสียค่าเช่าเดือนละ 1 ล้านบาทตอนนี้ก็หันมาทำท่าเทียบเรือเองให้อยู่ในบริเวณเดียวกับคลังสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ทำอยู่ และเป็นการช่วยลดต้นทุนอย่างน้อยปีนึงก็ตก 12 ล้านบาท ถึงจะน้อยแต่ก็ดีกว่าไม่ประหยัดเลย"
ปัจจุบัน UMS มีเรือขนส่งสินค้าไว้บริการจำนวน 16 ลำ เป็นการเช่า 6 ลำ ที่เหลืออีก 10 ลำเป็นการสั่งต่อใหม่ ลงทุนลำละ 17 ล้านบาท รวมเป็น 170 ล้านบาท สามารถขนย้ายสินค้าได้ประมาณ 100,000-200,000 ตัน/เดือน สำหรับเส้นทางการเดินเรือคือ อยุธยา-เกาะสีชัง
*รายได้ปี 51 โตเกินเป้า 30% แน่ ยังรักษาลูกค้ากว่า 400 รายแม้ราคาน้ำมันร่วง
นายปิยะ ยังกล่าวย้ำความมั่นใจเกี่ยวกับรายได้ปี 51 ว่า จะเติบโตได้เกินกว่าเป้า 30% แน่นอน เนื่องจากธุรกิจพลังงานยังเป็นสิ่งจำเป็น และถ่านหินก็เป็นพลังงานที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันถึง 3 เท่า จึงยังมีโอกาสการเติบโตต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป
"รายได้เราน่าจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ 30% ...เดือน พ.ย.นี้ก็จะจะถึงเป้าแล้ว"นายปิยะ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ส่งผลกระทบในแง่ของจำนวนลูกค้าลดลงแต่อย่างใด โดยยืนยันว่าลูกค้าที่ใช้ถ่านหินกว่า 400 รายยังอยู่ครบไม่ได้หนีหายไปไหน คาดว่าอาจจะเป็นเพราะราคาถ่านหินยังมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันทุกชนิด
อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังพิจารณาปรับลดค่าขนส่งหลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
*ร่วมมือกระทรวงพลังงานทดลองแปรรูปถ่านหินเป็นก๊าซ NGV-CNG
นายปิยะ กล่าวถึงโครงการแปรรูปถ่านหินเป็นก๊าซ NGV และ LPG ว่า เป็นโครงงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน เป็นลักษณะนำเครื่องจักรมาทดลองแปรรูปถ่านหินเป็นก๊าซให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเซรามิคดูเป็นตัวอย่าง หากประสบความสำเร็จ UMS น่าจะมีกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เข้ามาซื้อถ่านหินเพิ่มขึ้น และหากโครงการนี้สำเร็จอาจขยายวงสู่ลูกค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการใช้ก๊าซจากถ่านหิน
"คาดว่าไตรมาส 1 ปี 52 น่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้...จะเป็นการทดลองว่าสามารถแปรรูปถ่านหินเป็นก๊าซได้อย่างไรบ้าง มีกระบวนการอย่างไรบ้าง"นายปิยะ กล่าว