ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร BCP ที่ BBB+ พร้อมแนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 5, 2008 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) ที่ระดับ “BBB+" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท งบดุลที่อยู่ในระดับดี และการได้รับการสนับสนุนจาก บมจ. ปตท. (ปตท./PTT.)

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่น (Gross Refining Margin) ตลอดจนความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่มีแนวโน้มลดลงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าการก่อสร้างหน่วยแตกโมเลกุล (Hydrocracking Unit) ชุดใหม่ของบริษัทบางจากปิโตรเลียมจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2551 นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นที่มีอยู่และเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ค่าการกลั่นรวมของบริษัทที่สูงขึ้นจากหน่วยแตกโมเลกุลใหม่น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันลงได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทบางจากปิโตรเลียมก่อตั้งในปี 2528 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขนาด 120,000 บาร์เรลต่อวันซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินธุรกิจบริหารสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,000 สถานีภายใต้เครื่องหมายการค้า “บางจาก" ด้วย การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ทำให้ ปตท. กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย ปตท. 29.7% กระทรวงการคลัง 11.2% และส่วนที่เหลืออีก 59.1% ถือโดยนักลงทุนทั่วไป เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเป็นโรงกลั่นแบบพื้นฐาน (Simple Refinery) บริษัทจึงมีผลผลิตน้ำมันเตาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำในสัดส่วนที่สูงกว่าโรงกลั่นน้ำมันแบบซับซ้อน (Complex Refinery) สัดส่วนน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉลี่ยจากโรงกลั่นของบริษัทในช่วงปี 2550-2551 ประกอบด้วย น้ำมันดีเซล 36% น้ำมันเตา 37% น้ำมันเบนซิน 14% และผลิตภัณฑ์อื่น 13%

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทบางจากปิโตรเลียมในช่วงปี 2549-2551 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการกลั่นของโรงกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 48% ในปี 2549 เป็น 60% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เนื่องจากบริษัทสามารถส่งออกน้ำมันเตาชนิดพิเศษไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ การที่บริษัทสามารถจัดหาน้ำมันดิบภายในประเทศที่มีราคาถูกในสัดส่วนที่สูงขึ้นและสามารถขายน้ำมันเตาชนิดพิเศษได้ในราคาที่สูงส่งผลทำให้ค่าการกลั่นรวมของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2551 สูงถึง 13.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจการตลาดของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมโดยรวม โดยค่าการตลาดรวมของบริษัทในครึ่งแรกของปี 2551 ติดลบ 0.08 บาทต่อลิตร (-0.08 บาทต่อลิตร) เมื่อรวมผลการดำเนินงานของทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดเข้าด้วยกันแล้ว บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 4,324 ล้านบาท โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ 36.7% อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 40%-45% ตามแผนการลงทุนในช่วงปี 2551-2553

วิกฤติการณ์ทางการเงินของโลกส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง ในขณะที่กำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกในช่วงปี 2551-2553 อาจนำไปสู่อุปทานส่วนเกินในภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ