นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) กล่าวว่า บริษัทได้พับแผนซื้อหุ้นคืนจากที่เคยเตรียมวงเงินไว้ 300-400 ล้านบาท เนื่องจากแผนออกหุ้นกู้ล่าช้าออกไป ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงินที่มีอยู่ในการพัฒนาโครงการใหม่แทนที่จะใช้เข้าไปซื้อหุ้นคืน
เหตุที่ต้องเลื่อนแผนออกหุ้นกู้เนื่องจากธนาคารทหารไทย (TMB) ซึ่งเป็นผู้รับประกันการขายขอยกเลิกการทำหน้าที่จากผลกระทบวิกฤติทางการเงิน ทำให้ PF ต้องหาผู้ที่มารับประกันการขายแทนให้ได้ก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารกรุงไทย(KTB)แต่คาดว่าคงต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 52
ทั้งนี้ การเลื่อนขายหุ้นกู้จะทำให้บริษัทต้องเลื่อนการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่มีมูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท ไปเป็นปี 53-54 แทนจากเดิมที่คาดว่าจะเสนอขายได้ในช่วงปลายปีหน้า เพราะสินทรัพย์ที่มีแผนจะขายให้กับกองทุนอสังหาฯ คือ โครงการเซ็นเตอร์พอยท์ รัชดา ก็เลื่อนไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะเลื่อนแผนการระดมทุนออกไป แต่ก็จะไม่กระทบกับยอดรับรู้รายได้ในปีนี้ที่ตั้งไว้ 7 พันกว่าล้านบาท และมีแนวโน้มว่ายอดรับรู้รายได้อาจจะมากกว่า 7 พันล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมียอดโอนแล้ว 6 พันล้านบาท
ส่วนยอดขายทั้งปีคงจะไม่สามารถทำได้ทะลุ 9 พันล้านบาทจากที่เคยพูดไว้ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจในการซื้อบ้านจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง และจากปัญหาวิกฤติ ทำให้มียอดการกู้เพื่อขอสินเชื่อไม่ผ่านเพิ่มเป็น 10% จาก 5% แต่บริษัทได้เน้นการสร้างแคมเปญต่างเพื่อกระตุ้นการซื้อ
รวมถึงการนำโครงการบ้านหรู 3 แห่ง มูลค่า 820 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จะพัฒนาในปีหน้ามาเปิดตัวเร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 4/51 รวมถึงการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียม เมโทร สกาย รัชดา และเมโทร สกาย สุขุมวิท นอกจากนี้ จะมีการปรับลดราคาขายโครงการเมโทร พาร์ค สาทรลง 5% เพื่อกระตุ้นยอดขายอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับปี 52 นายธีระชน กล่าวว่า อัตราการเติบโตคงจะชะลอตัวลง จึงทำให้บริษัทจะต้องปรับกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการขายโครงการที่มีระดับราคาต่ำลงอยู่ที่ 4 ล้านบาท การเปิดโครงการขายทีละเฟส และการลดจำนวนโครงการใหม่เหลือเพียง 2 แห่ง ทำให้ไม่ต้องใช้ที่ดินมาก ดังนั้น ต้นทุนก็ไม่เพิ่ม อีกทั้งการหันมาใช้รูปแบบการก่อสร้างสำเร็จรูป ก็จะทำให้ก่อสร้างได้เร็วเพื่อรับรู้ได้เร็วขึ้น
นายธีระชน กล่าวต่ออีกว่า จากปัจจัยดังกล่าวทำให้บริษัทวางเป้าการเติบโตของยอดขายไว้ที่ 9-1 หมื่นล้านบาท ไม่มากเมื่อเทียบกับปีนี้ ขณะที่ยอดรับรู้ 8 พันล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 700 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 5.5 พันล้านบาท บ้านแฝด 500 ล้านบาท และทาวน์เฮ้าส์ 2 พันล้านบาท
ในปีหน้ายังมีการรอรับรู้จากากรขายที่ดินให้กับมหาวิทยาลัยอีก 900 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญากันภายในเดือนธ.ค.นี้