(เพิ่มเติม) กลุ่มสหพัฒน์ ตั้งเป้ายอดขายปี 52 โต 5-6% ชะลอวางแผนลงทุนรอนโยบายรัฐชัด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 7, 2008 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล(SPC) ยอมรับว่า ในปี 52 จะยังเป็นปีที่ยังต้องติดตามจากผลกระทบจากวิกฤติการเงินและปัญหาภายในประเทศที่เกิดขึ้น เครือสหพัฒน์จึงตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีหน้าไว้ที่ 5-6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดี ถึงแม้จะต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละปีที่เคยอยู่ในระดับ 10%

"ส่วนยอดขายปีหน้า มองว่าถ้าโตได้ 5-6% ก็โอเคแล้ว เพราะปกติตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยทั้งปีไว้ที่ 10% แต่ในสถานการณ์แบบนี้ โตได้ 5-6% ก็น่าดีแล้ว" นายบุณยสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทในเครือสหพัฒน์ฯ แน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีสัดส่วนส่งออกในต่างประเทศไม่มาก จึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการพิจารณาการปรับลดราคาสินค้าในปี 52 ตามภาวะต้นทุนที่ปรับลดลง แต่จะอยู่ในระดับเท่าใดนั้น คงต้องประเมินสถานการณ์และดูว่าเป็นสินค้าประเภทไหน แต่จากนี้จนถึงสิ้นปี บริษัทจะตรึงราคาไว้ก่อน เพราะวัตถุดิบบางประเภทที่สั่งซื้อมาตั้งแต่ต้นปียังเป็นต้นทุนเดิม รวมทั้ง อาจจะเห็นการออกสินค้าใหม่ราคาถูกเจาะตลาดล่างแทนการปรับลดราคาในช่วงที่เหลือของปีนี้

ส่วนการพิจารณาแผนลงทุนของเครือสหพัฒน์ในปี 52 นั้น คงจะต้องขอรอดูนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการว่าจะมีรูปแบบใด จึงยังไม่อยากตั้งเม็ดเงินลงทุนในขณะนี้ ซึ่งปีนี้ก็ลงทุนไม่มาก แต่เน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพและการลดต้นทุนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์บริษัทคงไม่ชะลอ เพราะได้เตรียมแผนไว้แล้ว

"สิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและนำมาปรับปรุงหรือหาแนวทางในการดำเนินธุรกิจถึงจะอยู่ได้"นายบุณยสิทธิ์ กล่าว

นายบุญยสิทธิ์ กล่าวอีกวา ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่ภาครัฐควรจะช่วยเหลือภาคธุรกิจ รวมถึงภาคส่งออกให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่ากว่าภูมิภาคประมาณ 5-10% เพราะที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาค 5-10% ซึ่งหากทำได้จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่าย

"ตอนนี้เราคงต้องดูสถานการณ์ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร แต่โชคดีที่ที่ผ่านมาเราได้ปรับตัวในเรื่องของการลดต้นทุน และการปรับปรุงโลจิสติก และที่โชคดีอีกอย่างคือการที่เรามีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศน้อย จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น หากภาคธุรกิจจะอยู่รอดได้ตอนนี้เงินบาทมีส่วนสำคัญ เพราะเชื่อว่าต่อไปการแข่งขันของสินค้าอุปโภคบริโภคจะต้องรุนแรงแน่นอน" นายบุณยสิทธิ์ กล่าว

นายบุณยสิทธิ์ กล่าวต่อว่า หากสามารถดูแลเงินบาทให้อ่อนค่ากว่าภูมิภาคได้ ก็จะช่วยในแง่การลงทุนให้ปลอดภัยไม่ต้องพึ่งเม็ดเงินจากต่างประเทศด้วย เพราะต่างประเทศเองก็มีความเสี่ยงเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ