(เพิ่มเติม) JASลงทุน 1.7พันลบ.รุกบรอดแบนด์ดันรายได้เพิ่ม/ล้ม"ทริปเปิลทีฯ"เข้าตลาดฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 10, 2008 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจบรอดแบนด์หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เตรียมลงทุนอีก 1.7 พันล่านบาทในปี 52 เพื่อขยายโครงข่ายบรอดแบนด์รองรับอีก 3 แสนพอร์ต คาดปีหน้าลูกค้าเพิ่มอีก 3 แสนราย จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีลูกค้า 3.7 แสนราย และ ปี 53 ทะลุ 1 ล้านราย โดยปัจจุบันมีลูกค้าแล้ว 3.35 แสนราย

การขยายธุรกิจบรอดแบนด์จะช่วยดันให้รายได้ปี 52 เพิ่มเป็น 7 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทในปี 53 จากในปี 51 ที่คาดว่าจะมีรายได้กว่า 5 พันล้านบาท ขณะเดียวกันมั่นใจปี 52 จะสามารถพลิกมีกำไรได้และสามารถจ่ายเงินปันผลได้หลังจากที่ปี 51 ยังขาดทุน

"รายได้กลุ่มจัสมินต่อไปส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจบรอดแบนด์ เป็นหลัก โดยปี 2010 (2553) จะมีสัดส่วนถึง 70% ค่อยๆเพิ่มมาจากปีนี้ที่มีสัดส่วน 35% และปีหน้า(ปี 52) มีสัดส่วน 50%...เราตั้งใจเป็น No. 1 เป็น Broadband Provider"นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นบริการที่มีจุดเด่นด้านความเร็ว ซึ่งบริษัทมั่นใจทำได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าและมีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยปีหน้าจะเน้นเจาะลูกค้าในกรุงเทพมากขึ้น คาดว่าจะมีลูกค้าใหม่ราว 1 หมื่นราย/เดือน ส่วนลูกค้าในต่างจังหวัดจะมีประมาณ 1.5 หมื่นราย/เดือน รวมแล้วจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 2.0-2.5 หมื่นราย/เดือน

สำหรับเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาทจะได้ซัพพลายเออร์เครดิตจากหัวเหว่ยและอัลคาเทลที่บริษัทจะต้องจ่ายคืนภายใน 3 ปี ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะสามารถรองรับได้อีก 3 แสนพอร์ต จากก่อนหน้าที่ลงทุนไป 1.5 พันล้านบาท โดยได้ซัพพลายเออร์เครดิตจากสองรายเช่นกัน ซึ่งจะจ่ายหมดในกลางปี 52

ขณะที่ บริษัทเตรียมทำตลาดบริการ wifi ต้นปี 52 เชื่อความต้องการยังมีอยู่สูง และประเมินทำรายได้ปีแรกกว่า 100 ล้านบาท โดยจะออกโปรโมชั่นในราคาเดือนละ 99 บาทซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งมาก ทั้งนี้มีการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ดำเนินการภายใต้บริษัท อคิวเมนท์ จำกัด ( ACU )

อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก บริษัทเชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก เพราะฐานรายได้มาจากในประเทศ และ ธุรกิจโทรคมนาคมจะได้รับกระทบน้อย

นอกจากนี้ บริษัทยกเลิกการนำบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์(TTT BB)เข้าตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ไม่ขยายเวลาแบบไฟลิ่ง

ขณะเดียวกัน ทริปเปิลที ฯก็มัมีปัญหาเรื่องโครงสร่างผู้ถือหุ้นที่ซับซ้อน และบมจ.ทีทีแอนดที (TT&T) ซึ่งถือหุ้นใน TTT BB 9.09% อยู่ในช่วงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนมองว่าระยะนี้ตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยจึงยกเลิกไปก่อน แต่หากต่อไปมีโอกาสอาจนำกลับมาพิจารณาใหม่

ทั้งนี้ TTT BB ถือหุ้นโดยบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด ( ACU ) อยู่ 90.91 % โดย JAS ถือหุ้นใน ACU อยู่ 100%

*ไม่มีภาระจาก TT&T อีกต่อไป

นายพิชญ์ กล่าวว่า จากการที่บริษัทได้ลดมูลค่าที่ตราไว้(Par)จากหุ้นละ 1 บาท เป็น 0.50 บาท เพื่อนำไปหักกลบขาดทุนสะสมของบริษัท โดยขณะนี้บริษัทมีกำไรสะสมแล้ว แต่ขณะเดียวกันบริษัทได้ตัดขาดทุน(write off)ของ TT&T จำนวน 1,969 ล้านบาทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้บริษัทจึงมีผลขาดทุนอยู่

แต่หลังจากนี้ผลประกอบการของบริษัทก็จะไม่ได้รับผลกระทบจาก TT&T อีกต่อไป จากที่ผ่านมารับรู้ผลขาดทุนไตรมาสละ 200 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 3/51 บริษัทเริ่มพลิกมามีกำไร อย่างไรก็ตาม ในปี 51 ยังปรากฎผลขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีขาดทุน 41.43 ล้านบาท แต่เชื่อมั่นว่าในปี 52 บริษัทจะกลับมีกำไรแน่นอนและสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ตามนโยบายที่จะจ่ายอย่างน้อย 50% ของกำไรสุทธิ

ปัจจุบัน ฐานะการเงินบริษัทเริ่มแข็งแกร่งขึ้น โดยมีเงินสดอยู่ในมือกว่า 3 พันล้านบาทและไม่มีหนี้สิน

ส่วนการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการของ TT&T นั้น เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยคาดว่าภายในสิ้นปีจะเลือกผู้ทำแผนได้ ซึ่งบริษัทจะเข้าไปทำหน้าที่นั้น เพราะ TT&T เป็นหนี่งในกลยุทธ์หลักของบริษัทที่มุ่งสู่การเป็ผู้นำธุรกิจบรอดแบนด์

"คิดว่าช่วงกลางปี 52 บริษัท TT&T จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจะต้องให้เจ้าหนี้โหวต และต้องใช้เสียงครึ่งหนึ่ง แต่กว่าจะดำเนินการออกจากแผนฟื้นฟูก็คิดว่าคงใช้เวลา 2-3 ปี ดูจากที่จัสมินฯเคยเข้าแผนฟื้นฟูและใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะออกจากแผนได้" นายพิชญ์ กล่าว

*ลดบทบาทธุรกิจสัปทาน

สำหรับ บมจ. จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากงานประมูลสื่อสารโทรคมนาคม ปัจจุบัน(สิ้น ก.ย.51)มีมูลค่างานในมือ (backlog) 2.1 พันล้านบาท เพิ่มจากสิ้น มิ.ย.51 ที่มี 1.4 พันล่านบาท แต่กำไรขั้นต้นลดลงอยู่ต่ำกว่า 10% ในไตรมาส 3/51 แต่ยังสามารถปันผลให้กับ JAS ได้อยู่ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม นายพิชญ กล่าวว่า JTS จะลดรายได้จากการประมูลงาน เนื่องจากมีความไม่แน่นอน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาการเมือง ทำให้การประมูลภาครัฐต้องเลื่อนออกไป แต่ JTS ก็ยังจะเข้าประมูลงานภาครัฐอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

ส่วนบริษัท จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำทางด้านตะวันออกที่มีความยาว 1,272 กม. จะหมดอายุสัมปทานกับบมจ.ทีโอที ในเดือนก.ย.54 นั้น บริษัทได้เจรจาหารือก้บทีโอทีเพื่อขอต่อสัญญาออกไป แต่หากไม่ได้ ก็จะเสนอตัวเป็นผู้ดูแลอุปกรณ์ต่อไป คาดว่าจะต่อสัญญาบริหารดูแลอุปกรณ์อีก 5 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่ม JAS คาดว่าจะได้ข้อสรุปการเจรจาในปีหน้า

JAS ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจบริษัทใหม่ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์ , กลุ่ม Telecom Network , กลุ่ม Internet Service และ กลุ่มธุรกิจอื่น ซึ่งได้แก่ JTS


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ