ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 70 จุดเมื่อคืนนี้ (10 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและผลประกอบการของบริษัทเอกชน จึงทำให้กระแสตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนแผ่วลง หลังจากที่ดัชนีทะยานขึ้นขานรับมาตรการดังกล่าวในช่วงเช้า
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 73.27 จุด หรือ 0.82% แตะที่ 8,870.54 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 11.78 จุด หรือ 1.27% แตะที่ 919.21 จุด และ ดัชนี Nasdaq ปิดลบ 30.66 จุด หรือ 1.86% แตะที่ 1,616.74 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.14 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 1.71 พันล้านหุ้น
ในช่วงเช้านั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นขานรับข่าวที่ว่า รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน ซึ่งภายใต้มาตรการนี้ รัฐบาลจีนจะจัดสรรงบประมาณมูลค่า 1 แสนล้านหยวนมาใช้เบื้องต้นในไตรมาสนี้ โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำ, ถนน, ทางรถไฟ, สนามบิน และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในเมือง ซึ่งมาตรการดังกล่าวซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของตัวเลข GDP จีนปีที่แล้วฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้จนถึงปีพ.ศ.2553
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีการลดภาษีซื้อสินทรัพย์คงที่ อาทิ เครื่องจักร เพื่อกระตุ้นการลงทุน และคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทผลิตเครื่องจักรประหยัดต้นทุนได้ถึง 1.20 แสนล้านหยวน ทั้งนี้คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติอย่าง เจนเนอรัล อิเล็กทริก (GE) และคาเตอร์พิลลาร์
ฮิวจ์ จอห์นสัน นักวิเคราะห์จาก Johnson Illington Advisors กล่าวว่า "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนส่งแรงกระเพื่อมในด้านบวกไปทั่วภูมิภาค รวมถึงภูมิภาคเอเชีย โดยตลาดหุ้นในเอเชียทะยานขึ้นแข็งแกร่งและอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในตลาดเอเชียก็ปรับตัวลดลงด้วย นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน และมอร์แกน สแตนลีย์ ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนของจีนหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นหลายแห่งให้คึกคักขึ้นด้วย"
"แต่นักลงทุนขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนได้เพียงชั่วระยะหนึ่ง ก็เริ่มเทขายในช่วงบ่าย เนื่องจากความกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทสหรัฐเริ่มกลับเข้ามาเป็นปัจจัยลบในตลาด สถานการณ์ดังกล่าวไม่แตกต่างกับเมื่อครั้งที่สภาคองเกรสสหรัฐอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตลาดก็ตอบรับได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนและตระหนักถึงความจริงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก เริ่มเข้าสู่ระยะถดถอยแล้ว" จอห์นสันกล่าว
นักลงทุนจับตาดูความเคลื่อนไหวของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) หลังจากมีรายงานว่า AIG อาจได้รับสิทธิพิเศษในการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงและได้รับการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ที่ยาวนานขึ้นในรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา ซึ่งการผ่อนปรนเช่นนี้จะช่วยให้นายเอ็ดเวิร์ด ลิดดี ซีอีโอของ AIG มีเวลาเพิ่มขึ้นในการชำระหนี้ให้กับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย หลังจาก AIG ขาดทุนรวมใน 3 ไตรมาสกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจกับข่าวที่ว่า บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม), ไครสเลอร์ และฟอร์ด มอเตอร์ เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสภาคองเกรสเพื่อขอความช่วยเหลือด้านการเงิน
หุ้นบริษัททริบูน ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทม์ส และชิคาโก ทริบูน ร่วงลง หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุนไตรมาส 3 มูลค่า 121.6 ล้านดอลลาร์เนื่องจากยอดขายโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ลดลง ขณะที่หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 5.2%
ส่วนหุ้นสตาร์บัคส์ คอร์ป ร่วงกว่า 3% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสต่ำกว่าความคาดหมาย และหุ้นกูเกิลร่วงลง 3.7% หลังจากนักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอลปรับลดคาดการณ์การรายได้ในไตรมาส 4 ของกูเกิล