นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)คาดรายได้ในปี 52-53 ยังเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5% แม้โครงการใหม่ที่จะมีแผนเข้าลงทุนอาจมีการชะลอหรือล่าช้าออกไปบ้าง โดยเฉพาะในลาว แต่ก็ยังมองหาโครงการใหม่ ๆ เข้ามาเสริม โดยในช่วง 1-2 ปีนี้จะศึกษาโอกาสเข้าลงทุนธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียและธุรกิจพลังงานในเวียดนาม
RATCH คาดว่ากำไรสุทธิในปี 51 ยังเติบโตได้ 10% จากปีก่อน โดยในช่วง 9 เดือนแรก กำไรเติบโตไปแล้วกว่า 6% และในไตรมาส 4/51 บริษัทได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังและไม่มีการหยุดผลิตเลย จึงน่าจะส่งผลดีต่อทั้งรายได้และกำไรของบริษัท เช่นเดียวกับในไตรมาส 3/51
อนึ่ง ในไตรมาส 3/51 กลุ่ม RATCH มีกำไรสุทธิ 2,075.44 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.43 บาท จากไตรมาสเดีบวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 560.69 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.39 บาท คิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 2.70 เท่า สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าราชบุรีไม่มีการหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการบำรุงรักษา
ทั้งนี้ บริษัท ราชบุรีพาวเวอร์ เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีเพาเวอร์ชุดที่ 1 และ 2 เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.และ 1 มิ.ย. เต็มกำลังผลิต จะทำรายได้ต่อปี 600-700 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25%
นายนพพล กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการประเมินและทบทวนการลงทุนในโครงการหงสาและโครงการน้ำงึม 3 ในประเทศลาว เนื่องจากมีโอกาสที่จะล่าช้าออกไป เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนผลิตไฟฟ้าสำรอง(PDP)ที่ประเมินว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอาจลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว โดยน่าจะได้ข้อสรุปทั้งสองโครงการหากต้นทุนนิ่งขึ้นกว่านี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในการส่งไฟฟ้าไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน และระยะ 1-2 ปีที่ยังไม่มีโครงการใหม่เข้ามา บริษัทก็จะศึกษาลงทุนโครงการใหม่ เช่น ในธุรกิจถ่านหิน ที่ประเทศอินโดนีเซียในแหล่งเกาะชวาและสุมาตรา อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษาอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานในเวียดนามด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้าที่บริษัทมีความถนัด
สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง นายนพพล กล่าวว่า เป็นปัจจัยตามสภาวะตลาดไม่มีความกังวลเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทยังมีเสถียรภาพ มีกระแสเงินสดในมือสูงถึง 8.4 พันล้านบาท และมีกำไรสะสมจากการดำเนินงานถึง 2.3 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความพร้อมในการลงทุนของบริษัท ส่วนการออกหุ้นกู้ที่บริษัทขอวงเงินผู้ถือหุ้นไว้ 7.5 พันล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะออก เนื่องจากบริษัทยังมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการลงทุน และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ ที่จะต้องลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่หนี้สินที่มีอยู่ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท บริษัทยังเชื่อมั่นว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้
นายนพพล กล่าวถึง การเข้ามารับหน้าที่กรรมการผู้จัดการคนใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าระยะหนึ่งวิกฤติต่างๆ จะกลับมาดีขึ้น และแผนการลงทุน 5 ปีของบริษัทก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังคงเน้นการดำเนินงานตามนโยบายของกฟผ.
และในระยะแผน 5 ปี ก็ยังคงรอกำลังการผลิตใหม่จากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 กำลังการผลิต 153 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะเข้ามาปลายปี 53, โครงการน้ำงึม 3 กำลังผลิต 110 เมกะวัตต์ โครงการหงสา กำลังผลิต 661 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 57, โครงการเซเปียนนเซน้ำน้อย 93 เมกะวัตต์ จะทำให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้น 5,364 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 4,347 เมกะวัตต์
ล่าสุด คาดว่าจะลงนามสัญญา Project Developement Agreement (PDA)กับรัฐบาลลาวในโครงการเซเปียนเซน้ำน้อยได้ในเดือนพ.ย.นี้ ส่วนโครงการน้ำงึม 2 ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 62% โครงการหงสาและโครงการน้ำงึม 3 อยู่ระหว่างการเจรจาราคาขายไฟใหม่กับ กฟผ. ขณะที่โครงการน้ำบาก ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาถึงสัดส่วนการถือหุ้น และอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการ