โบรกฯเชียร์ตลท.เป็นเจ้าภาพอุ้ม TSFC คาดใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1.5-1.6พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 11, 2008 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการโบรกเกอร์ ระบุตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เป็นความหวังเดียวช่วยฟื้นชีพ TSFC ที่ฐานะย่ำแย่ ด้านโบรกเกอร์ทุกแห่งก็ไม่สภาพไม่แตกต่างกัน หากจะหวังให้มาช่วยใส่เม็ดเงินเพิ่มทุนคงเป็นไปได้ยาก ขณะที่กระทรวงการคลังยังมีข้อจำกัด แต่หากจะปล่อยให้ TSFC ต้องล้มไปก็คงสะเทือนทั้งระบบ แนะตลท.เทคโอเวอร์ TSFC หรือตั้ง TSFC 2 ซึ่งการช่วยเหลือครั้งนี้อาจต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1.5-1.6 พันล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ ให้ความเห็นกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ทางเดียวที่จะช่วยเหลือบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์(TSFC)ไว้ได้ คือการให้ตลท.ออกหน้าให้เม็ดเงินช่วยกู้สถานะเอาไว้ เพราะจะปล่อยให้ TSFC ล้มไปคงจะไม่ได้ เนื่องจากระบบธุรกิจหลักทรัพย์จำเป็นต้องมี TSFC

"อาจจะให้ตลาดหลักทรัพย์เทคโอเวอร์ TSFC ไปเลยก็ได้ หรือจะมี TSFC 2 ขึ้นมาก็ได้ เพราะตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นที่มีเงินมากเพียงพอที่จะเข้ามาลงทุนได้ ส่วนจะให้โบรกเกอร์มาร่วมลงทุนก็คงจะได้เม็ดเงินไม่มาก เพราะเวลานี้สภาพตลาดหุ้นไทยไม่ดี วอลุ่มเทรดในแต่ละวันก็มีอยู่น้อย โบรกเกอร์ยังสามารถเดินไปแบบเสมอตัวได้ก็เก่งแล้ว"

ปัจจุบัน TSFC มีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 10.73%, ตลท.ถือหุ้น 5.00%, กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 28.69%, ธนาคารไทยธนาคาร 6.63%, ธนาคารกรุงไทย 6.13%, ธนาคารออมสิน 5.00%,ธนาคารนครหลวงไทย 2.25%,ธนาคารทหารไทย 6.73%,ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ถือหุ้น 10.86%,บริษัทเงินทุน 2 แห่งและบริษัทหลักทรัพย์ 19 แห่ง ถือหุ้นรวม 17.99%

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด(TSFC)เป็นระดับ “BBB-" จากเดิมที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันได้กำหนด “เครดิตพินิจ" (CreditAlert) แนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" ให้แก่อันดับเครดิตดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ฐานเงินทุนและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมาก

*แนวทางเพิ่มทุนของ TSFC เป็นไปได้ แต่ใครจะพร้อมใส่เงิน

"เวลานี้สถานะของ TSFC มีโอกาสที่จะเจ๊งสูง แต่คงจะปล่อยให้เจ๊งไปไม่ได้ ดังนั้นแนวทางที่มีการเสนอเรื่องการเพิ่มทุนจึงมีความเป็นไปได้มากที่จะต้องทำ

แต่หากมองในแง่ของเม็ดเงินที่จะใส่เข้ามาแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายไม่ค่อยจะมีความพร้อมที่จะใส่เงินเข้าไปให้ TSFC เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนฟื้นฟูฯ บวกกับกระทรวงการคลัง รวมถือหุ้นใน TSFC ราว 38% ส่วนที่เหลือก็เป็นธนาคารภาครัฐถือหุ้นราว 17% และบริษัทหลักทรัพย์บางรายที่ถือหุ้นแค่เล็กน้อย

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเวลานี้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ภายนอกประเทศก็เกิดวิกฤตการเงินที่ยังไม่จบ ทุกคนมีความระมัดระวังการใช้เงิน แม้แต่ธนาคารเองก็มีการเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้นการที่จะให้ธนาคารเอาเงินไปช่วยเหลือ TSFC อาจจะต้องล่าช้า หากทางกระทรวงการคลังยังไม่ใส่เม็ดเงินเข้ามาใน TSFC ก่อน"

และในส่วนของกระทรวงการคลังก็จะเห็นได้ว่าหากจะเอาเม็ดเงินใส่เข้ามาช่วยเหลือ TSFC ก็จะต้องขอมติครม.ด้วย จึงเป็นเรื่องที่เวลานี้ไม่ค่อยมีใครอยากจะทำ เพราะนอกจากจะกลัวว่าทำแล้วจะไม่ได้ ทางครม.เองก็ไม่กล้าที่จะอนุมัติอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเวลานี้สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง แม้แต่นักการเมืองเองก็มีความระมัดระวังตัวในการจะทำอะไรก็ตาม"

*TSFC จะอยู่รอดได้ ต้องใช้เงินเท่าไหร่

"เม็ดเงินที่จะทำให้ TSFC อยู่รอดได้คงจะต้องใช้ประมาณ 1.5-1.6 พันล้านบาทก่อน แต่หากต้องการจะให้การทำธุรกิจของ TSFC เติบโตต่อไปด้วยคงจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ เพราะเพียงแค่เงิน 1.5-1.6 พันล้านบาทก็แค่ทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ TSFC อยู่ในระดับที่เกิน 8% ได้เท่านั้น จากปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ TSFC อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 8% เรียกได้ว่าเวลานี้ TSFC ไม่มีเงินเลย แต่ได้หยุดการปล่อยมาร์จินมานานแล้วตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว

เดิมที TSFC ได้กู้ยืมเงินมา 1.8 หมื่นล้านบาท แล้วใช้ในการปล่อยมาร์จินไป 8 พันล้านบาท, ใช้ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นจำนวน 4 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือ 6 พันล้านบาท ทาง TSFC ไม่ได้เอาไปบริหารให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกัน TSFC ก็มีรายจ่ายจากดอกเบี้ยตลอด ดังนั้น มองว่าการบริหารด้วยการกู้เงินมาแล้วเก็บไว้นั้นเป็นการบริหารที่ผิดจริง ๆ

และยิ่งไปกว่านั้นในช่วงไตรมาส 2/51 ถึงปัจจุบัน หุ้นได้ปรับตัวลงไป 40-50% สภาพคล่องของตลาดฯก็หดหายไป ล่าสุดก็เจ๊งหุ้น BLISS ไป ทำให้ TSFC ขาดทุนจากการลงทุนและปล่อยมาร์จินให้ลูกค้า และคาดว่าอาจจะลามไปถึงไตรมาส 4/51 ด้วย"

*หาก TSFC เจ๊งจะไม่กระทบในวงกว้างหรือไม่

"หาก TSFC เจ๊งจริง พวกที่จะเสียหายก็จะเป็นธนาคารเจ้าหนี้ และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้เท่านั้น เชื่อว่าความเสียหายตรงนี้จะไม่กินวงกว้างออกไป

โดยเฉพาะลูกหนี้ margin loan ที่กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์จาก TSFC ก็ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง เพราะก.ล.ต.ก็ได้ออกมาบอกแล้วว่า จะไม่มีการบังคับให้ต้องขายหุ้นเพื่อชำระหนี้ทันที และข้อปฏิบัติจะเป็นไปตามสัญญาการกู้ยืมเงินที่ลูกค้าได้ทำไว้เดิมกับบริษัททุกประการ หรือหากลูกค้าประสงค์ที่จะโอนย้ายไปเป็นลูกหนี้มาร์จินของบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปรายอื่นที่ให้บริการ margin loan อยู่แล้วก็สามารถทำได้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ