บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ระดับ ‘F1(tha)’ แก่โปรแกรมการออกตั๋วแลกเงินอายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งสามารถออกหมุนเวียนใหม่ได้ มูลค่าไม่เกิน 8 พันล้านบาทของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน (“บริษัทฯ")
การจัดอันดับเครดิตสะท้อนถึงโรงกลั่นน้ำมันของเอสโซ่ที่มีศักยภาพและความสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ความได้เปรียบในการจัดหาน้ำมันดิบและวัตถุดิบ และต้นทุนการกลั่นที่ต่ำ รวมถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า “เอสโซ่"(Esso) ที่มีชื่อเสียงอันยาวนานในประเทศไทย การผลิตที่ต่อเนื่องไปยังการผลิตพาราไซลีนเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสายผลิตภัณฑ์ สามารถทำให้การบริหารหน่วยผลิตต่างๆได้ประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการลดความผันผวนของรายได้จากการกลั่นน้ำมัน
นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนในด้านการดำเนินธุรกิจและการเงินจาก เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่นและบริษัทในเครือ โดยฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตสากลของเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA’ และระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เอ็กซอนโมบิล เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งสามารถแต่งตั้งกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทฯ และยังสนับสนุนบุคลากรให้มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทฯ อีกด้วย นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้รับประโยชน์จากการใช้เครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลกของเอ็กซอนโมบิล ในการจัดหาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมัน และสามารถใช้ประโยชน์จากการบริการทางด้านเทคโนโลยี การบริการด้านวิศวกรรม ทรัพยากรบุคคล และการวิจัยและพัฒนาของเอ็กซอนโมบิลเพื่อเพิ่มประสิทธิในการดำเนินงานของบริษัทฯ นอกจากนี้ เอ็กซอนโมบิล ยังได้เคยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัทฯ ซึ่งได้แก่การให้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทและวงเงินสินเชื่อต่างๆ หลังวิกฤตการเงิน 2540 (โดยมีเงื่อนไขเท่าเทียมกับธุรกรรมที่ทำกับบุคคลภายนอก) และการเพิ่มทุนในปี 2550 เป็นต้น
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานะการเงินที่ดีขึ้นของบริษัทฯ การเพิ่มทุนในครึ่งปีหลังของปี 2550 การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในครึ่งปีแรกของปี 2551 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ได้ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted net debt/Operating EBITDAR) ลดลงเป็นอย่างมาก โดยลดลงจาก 7.3 เท่าในปี 2549 เป็น 2.6 เท่าในปี 2550 และ 1.6 เท่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการลงทุนของบริษัทฯ ที่มากขึ้น