"ทริส"เพิ่มเครดิตองค์กร“บ.อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง"เป็นA-แนวโน้มStable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 13, 2008 08:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง จำกัด เป็นระดับ “A-" จาก “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ซึ่งเป็นผลจากการที่อันดับเครดิตของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นในฐานะที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจสินเชื่อให้เช่าแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม อันเป็นการส่งเสริมนโยบายธุรกิจธนาคารแบบครบวงจร (Universal Banking) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ “A+" และแนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง คณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ และความสามารถในการรักษาต้นทุนการดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น คุณภาพกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความเสี่ยงมากกว่าลูกค้าธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจส่งผลด้านลบต่อคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไร และการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าทิศทางธุรกิจของบริษัทจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่องจากธนาคาร แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสามารถของคณะผู้บริหารของบริษัทที่จะดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักไว้ได้ และคาดว่าผู้บริหารจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทให้เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า จากจำนวนผู้ประกอบการให้สินเชื่อรายใหญ่ 13 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 บริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง มีสถานะเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 13.4% โดยพิจารณาจากสินเชื่อรวมคงค้างทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 11.8% ณ สิ้นปี 2549 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิ (รวมรายได้สุทธิจากการให้เช่าดำเนินงาน) ในปี 2550 ที่ 227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จาก 183 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อรวม (รวมสินทรัพย์ให้เช่าดำเนินงานสุทธิ) ที่ระดับ 20% เป็น 5,798 ล้านบาท จาก 4,819 ล้านบาทในปี 2549 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น 80 ล้านบาทในปี 2550 จาก 82 ล้านบาทในปี 2549 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่ 81 ล้านบาทในปี 2550 เพิ่มขึ้นจาก 53 ล้านบาทในปี 2549 เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองพิเศษสำหรับรองรับปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสด้อยลงในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ย (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) เพิ่มขึ้นเป็น 7.50% ณ สิ้นปี 2550 จาก 5.61% ณ สิ้นปี 2549 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 3.35% ณ สิ้นปี 2550 จาก 2.38% ณ สิ้นปี 2549 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองสำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 69.29% ในปี 2550 จาก 62.87% ในปี 2549

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ลดลงในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ โดยสินเชื่อคงค้างจากลูกค้ารายใหญ่ 10 รายแรกคิดเป็น 34% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2550 โดยเพิ่มขึ้นจาก 32% และ 29% ในปี 2549 และ 2548 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประโยชน์จากการกระจุกตัวของฐานลูกค้ารายใหญ่ในแง่การมีต้นทุนดำเนินงานในระดับต่ำ ในปี 2550 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาที่ 10.31% จาก 12.27% ในปี 2549 ซึ่งน้อยกว่าระดับ 20%-30% ของคู่แข่งในตลาด

ในปี 2547 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ดำเนินนโยบายการเป็นธนาคารแบบครบวงจรและกำหนดให้บริษัทเป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจให้เช่าระยะยาวแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ในปีเดียวกัน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เพิ่มทุนให้แก่บริษัททั้งจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วนของธนาคารและจากผู้ถือหุ้นอื่นที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ โดยธนาคารได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ธนาคารถือหุ้น 99.99% ในบริษัทหลังจากการซื้อหุ้นที่เหลืออยู่จำนวน 10% จากผู้ถือหุ้นต่างชาติรายหนึ่งซึ่งร่วมก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2534 จากนั้นมา บริษัทได้ดำเนินธุรกิจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยการให้บริการสินเชื่อทั้งแก่ลูกค้าของธนาคารและไม่ใช่ของธนาคาร การสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารคาดว่าจะช่วยยกระดับสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้แก่บริษัท บริษัทได้พัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับธุรกิจลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม รวมทั้งระบบการตรวจสอบภายในที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ