นักวิเคราะห์ในย่านวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะร่วงลงต่อในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องปัญหาการขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์และข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐออกแถลงการณ์ว่าจะไม่นำงบประมาณจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์มาใช้ในการซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน และไม่มีแผนจะจัดตั้งกองทุนเข้ามาจัดการกับสินทรัพย์ที่มีปัญหาของอุตสาหกรรมรถยนต์ (TARP)
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 337.94 จุด หรือ 3.82% ปิดที่ 8,497.31 จุด หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ร่วงลง 2.8% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงในช่วงที่วิกฤตการณ์การเงินลุกลามไปทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ
ควินซี ครอสบี หัวหน้านักวิเคราะห์จาก The Hartford กล่าวว่า "ตลาดหุ้นนิวยอร์กเผชิญกับภาวะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดในเวลานี้คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน"
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐประกาศเปลี่ยนแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างไปเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะไม่ใช้งบประมาณดังกล่าวเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินที่มีปัญหาหรือหนี้เสียของสถาบันการเงินต่างๆในประเทศ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้บริโภค พร้อมระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนจะจัดตั้งกองทุนเข้ามาจัดการกับสินทรัพย์ประเภท TARP เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถหาทางออกในการแก้ไขวิกฤติทางการเงินของตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีอัดฉีดเงิน
ข่าวการเปลี่ยนแผนการใช้งบประมาณมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงทันทีกว่า 400 จุดในวันดังกล่าว และยังทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์จากทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐและนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ รวมถึงอัตราการว่างงานเดือนต.ค.ที่พุ่งขึ้น 0.4% แตะระดับ 6.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีครึ่ง และตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) เดือนต.ค.ร่วงลงอีก 240,000 ตำแหน่งในเดือนดังกล่าว ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันยาวนานถึง 10 เดือน
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญๆของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ วันจันทร์ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กจะเปิดเผยผลสำรวจภาคการผลิตเดือนพ.ย.และตัวเลขการผลิตทางอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนต.ค.
วันอังคาร กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค.และสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) จะเปิดเผยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. ส่วนในวันพุธกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค.,กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนต.ค. นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะประกาศมติการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยวันที่ 28-29 ต.ค.
วันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสำนักงานคอนเฟอเรนซ์บอร์ดจะเปิดเผยว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนต.ค. ส่วนวันศุกร์ไม่มีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ สำนักข่าวเอพีรายงาน