TRUE คาด Q4/51 ทรูมูฟโตต่อเนื่อง/ทั้งกลุ่มโตจากยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 17, 2008 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของทรูมูฟมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากชะลอตัวในในไตรมาส 2 และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ทรูมูฟยังคงเดินหน้าเพื่อปรับลดค่า IC ต่อไป และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุลยิ่งขึ้นในต้นปีหน้า

"การเติบโตของผู้ใช้บริการในไตรมาส 3 ทำให้มั่นใจว่า ในปีนี้จะยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ราว 1 ใน 3 ของตลาดโดยรวมตามเป้าหมาย ในขณะที่แผนการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม นอกจากจะทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งแล้ว ยังจะทำให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต อาทิ การให้บริการ 3G อีกด้วย" นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ ทรูมูฟสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ 719,687 ราย ในไตรมาส 3/51 จาก 507,394 รายในไตรมาส 2/51 ทำให้มี ส่วนแบ่งตลาดในผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.2 จากร้อยละ 23.5 ในไตรมาส 2 และจะยังคงตั้งเป้าหมายเพื่อครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ราว 1 ใน 3 ของตลาดโดยรวมภายในปี 2551

เป็นผลจากประสบความสำเร็จทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการด้าน Non-voice ที่ใช้ในปริมาณมาก หันกลับมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้รายได้จากบริการด้าน Non-voice เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา และจากปีก่อนหน้า ปัจจุบันรายได้จากบริการด้าน Non-voice มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 12.5 ของรายได้จากบริการเมื่อ ไม่รวม IC

รายได้จากบริการของทรูมูฟ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงเล็กน้อย (ร้อยละ 0.1) จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 5.5 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็น 1.4 พันล้านบาท หลังจากสามารถลดค่าใช้จ่าย และ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จะเห็นได้ว่า รายได้จากบริการ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงร้อยละ 8 รายได้จากบริการที่ลดลงและผลกระทบจากค่า IC ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ EBITDA ลดลงร้อยละ 24

ทั้งนี้ รายได้จากบริการโดยรวมของกลุ่มทรู (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากไตรมาสที่ผ่านมาเป็น 13 พันล้านบาท และจากผลการดำเนินงานของทรูมูฟที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) โดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 เป็น 4.4 พันล้านบาท หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า รายได้จากบริการโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 0.6) ในขณะที่ EBITDA ลดลงร้อยละ 6 ส่วนใหญ่ เนื่องจากรายได้ที่ลดลงและผลกระทบจากค่า IC ของทรูมูฟ

และปรากฎผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติในไตรมาสนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 513 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุนสุทธิ จำนวน 186 ล้านบาทในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของทรูมูฟเพิ่มขึ้น จากรายการปรับปรุงที่เกิดขึ้น ในครั้งเดียว สำหรับไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากไตรมาส 2 เนื่องจากขาดทุนจาก อัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง

"ทรูประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ซึ่งปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรายได้จากบริการโดยรวมและ EBITDA ของกลุ่มทรู เติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า จากความสำเร็จของธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งกลุ่มทรูนับเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ครบวงจรเพียงหนึ่งเดียว นอกจากนี้ ผลประกอบการของทรูวิชั่นส์และทรูออนไลน์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของกลุ่มทรูเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ในขณะที่ ทรูมูฟมียอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากค่า IC ลดลง จากมาตรการต่างๆ ที่ทรูมูฟได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ที่คืบหน้า ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการแพ็คเกจรวมบริการหลากหลายภายในกลุ่มขยายตัว" นายศุภชัย กล่าว

*ธุรกิจในกลุ่มดีขึ้น

ทรูออนไลน์ยังคงมีผลประกอบการที่ดี ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ชะลอตัว โดยไตรมาส 3/51 รายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 6.4 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จากบริการ โทรทางไกล ระหว่างประเทศและบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ EBITDA ลดลงร้อยละ 4.3 เป็น 2.4 พันล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า รายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4

โดยบริการบรอดแบนด์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้ 20,000 ราย ทำให้มียอดผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 625,000 ราย โดยใช้บริการที่ Bandwidth สูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากโปรโมชั่น Super hi-speed Internet ที่ยังคงได้รับการตอบรับที่ดี โดยยอดผู้ใช้บริการ hi-speed Internet ความเร็วตั้งแต่ 1 Mbps ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63 จากร้อยละ 53 ณ สิ้นปี 2550

นอกจากนี้ บริการ Wi-Fi ยังมียอดผู้ใช้เติบโตต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 87,000 ราย จาก 53,000 ราย ในไตรมาส 2

ส่วนทรูวิชั่นส์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้กว่าเท่าตัว เป็น 133,000 ราย เนื่องจากการขยายตลาดสู่ลูกค้าในวงกว้างประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก นอกจากนี้ อัตราการเปลี่ยนจากแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในวงกว้างมาใช้ แพ็คเกจราคาสูงของทรูวิชั่นส์เติบโตต่อเนื่อง เป็นร้อยละ 27 จากร้อยละ 22 ในไตรมาส 2 ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ยอดผู้ใช้บริการแพ็คเกจที่มีค่าบริการรายเดือนของทรูวิชั่นส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในไตรมาสนี้ จึงทำให้ทรูวิชั่นส์มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 1.3 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า

ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 2.4 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.9 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนท์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงคืบหน้า และเพิ่มยอดผู้ใช้บริการให้กับโปรโมชั่นที่ผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการภายในกลุ่มทรู โดยในไตรมาสนี้ ฟรีวิวแพ็คเกจ ซึ่งเป็นโปรโมชั่นระหว่างทรูมูฟกับทรูวิชั่นส์ มียอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในขณะที่ โปรโมชั่น Super hi-speed Internet ระหว่างบรอดแบนด์กับ ทรูมูฟ และทรูวิชั่นส์ได้รับการตอบรับที่ดี และมีผู้สมัครใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE กล่าวเสริมว่า ในช่วงเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา ทรูมีการชำระหนี้ คืนกว่า 3.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ หลังการเพิ่มทุนผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิม จะทำให้งบดุลของทรูปรับตัวดียิ่งขึ้น และเชื่อมั่นว่า การเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะทำให้ทรูเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้าน การเงิน การขยายธุรกิจ ซึ่งในที่สุดแล้ว ผู้ถือหุ้นและลูกค้าของกลุ่มทรู จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ