"ทริส"คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ CENTEL ที่ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 18, 2008 08:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นกับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย รวมทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรงและอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วน นอกเหนือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและน่าจะส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว การขยายธุรกิจโรงแรมของบริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากซึ่งจะทำให้มีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง นอกจากนี้ การที่บริษัทไม่สามารถต่อสัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งจะหมดอายุในเดือนธันวาคม 2551 นี้จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือเป็นความเสี่ยงในระดับปานกลาง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะดำรงฐานะทางการเงินให้เพียงพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศ โดยอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับผลกระทบในทางลบหากฐานะทางการเงินของบริษัทไม่เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้หรือหากบริษัทยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะลดระดับเงินกู้ให้ต่ำกว่าระดับในปัจจุบันซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 60% ด้วย

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่าก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทบริหารโรงแรมระดับสี่ดาวและห้าดาวจำนวน 13 แห่ง (กว่า 2,800 ห้อง) ใน 8 จังหวัด โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 รายได้จากโรงแรมส่วนใหญ่มาจากโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหิน โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ทสมุย โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท กระบี่ และโรงแรมเซ็นทารา @ เซ็นทรัลเวิลด์ บริษัทบริหารงานโรงแรมของตนเองภายใต้ชื่อสัญลักษณ์ “เซ็นทารา" ยกเว้นโรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหินเท่านั้นที่บริหารโดย Accor International

นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารงานโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ และโรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่ภายใต้แฟรนไชส์ของกลุ่ม Accor ด้วย บริษัทยังดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งให้บริการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศจำนวน 6 ตราสัญลักษณ์ คือ “เคเอฟซี" “มิสเตอร์โดนัท" “พิซซ่า ฮัท" “บาสกิ้นส์-ร้อบบิ้นส์" “อานตี้ แอนส์" และ “เป็ปเปอร์ลันช์" โดยมีจำนวนสาขารวมทั้งหมดเกือบ 490 แห่งทั่วประเทศ

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่ามีรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนเป็นหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของยอดขายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4,082 ล้านบาท จาก 3,515 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2550 เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงแรม ในขณะเดียวกัน รายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนก็เพิ่มขึ้น 11% เป็น 2,345 ล้านบาทจาก 2,113 ล้านบาทเนื่องจากการเปิดสาขาเพิ่ม ทั้งนี้ รายได้จากโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากถึง 24% จากการเปิดให้บริการของโรงแรม เซ็นทารา @ เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อต้นปี 2551 โดยอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room -- RevPAR) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14% ในช่วงดังกล่าว

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 44% ในปลายปี 2548 เป็น 60% ณ เดือนมิถุนายน 2551 จากการที่เงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,552 ล้านบาทจาก 2,364 ล้านบาท บริษัทยังคงขยายธุรกิจโดยมีค่าใช้จ่ายถึง 1,400 ล้านบาทเพื่อใช้พัฒนาโครงการหลักในกรุงเทพ พัทยา และภูเก็ตบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคงที่อยู่ที่ประมาณ 18%-20% ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจ่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอ่อนตัวลงเป็น 6.4 เท่า จากเดิมที่ 8-10 เท่าในช่วงปี 2549-2550 ในเดือนตุลาคม 2551 บริษัทได้ขายโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ท สมุยให้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา (กองทุนฯ หรือ CTARAF) ซึ่งก่อให้เกิดกระแสเงินสดสุทธิจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวน 1,400 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและนำบางส่วนไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้น

มีการคาดการณ์ว่าวิกฤตการเงินของโลกในปัจจุบันจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในอนาคตโดยเฉพาะในปีหน้าซบเซาลง ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศที่พึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งจะสร้างความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกในที่สุด ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งหลายจะหันมาเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศและจากประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าเพื่อทดแทนอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เติบโตเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงยังไม่เห็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกภายในปี 2551 นี้ แต่น่าจะเห็นผลภายในปี 2552 ผู้ประกอบการโรงแรมที่จะสามารถผ่านวิกฤติดังกล่าวไปได้จึงต้องรักษาฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่งเพื่อรองรับวงจรธุรกิจในช่วงขาลงให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ