ภาวะตลาดหุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้านี้ซบเซา เหตุไร้ปัจจัยบวกหนุน-ตลาดตปท.ปรับลงทั่วหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 18, 2008 08:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุพนธ์ ศรีอาจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะยังซบเซา เนื่องจากตลาดไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนการลงทุน ประกอบกับตลาดต่างประเทศก็ต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้า ทั้งตลาดสหรัฐและตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่ปรับตัวลงกัน

นอกจากนี้ ตลาดฯยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลัก ๆ ในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเวลานี้ญี่ปุ่นก็เจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย และซิตี้กรุ๊ปก็จะปรับลดพนักงานอีก ตอนนี้ผลกระทบได้เริ่มเข้ามาในแถบเอเชียแล้ว

สำหรับปัจจัยทางด้านการเมืองนั้น ทุกคนยังเฝ้ามองสถานการณ์อยู่ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้นตลาดหุ้นไทยก็น่าจะทรง ๆ ตัวไป และเวลานี้ต่างก็รอดูการปรับครม.

พร้อมให้แนวรับ 428-431 จุด แนวต้าน 440 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อวานนี้(17 พ.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 8,273.58 จุด ลดลง 223.73 จุด(-2.63%) ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 850.75 จุด ลดลง 22.54 จุด(-2.58%) และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 1,482.05 จุด ลดลง 34.80 จุด (-2.29%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 523.05 ล้านบาทเมื่อวานนี้
  • ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการเมื่อวานนี้ที่ 54.95 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 2.09 ดอลลาร์หรือ 3.66%
  • กระทรวงแรงงานของบ 1.53 พันล้านบาท รับมือสถานการณ์เลิกจ้าง คาดช่วยดูแลการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 60,000 คน สรุปยอดตกงานรอบ 8 เดือนสูงกว่า 1.3 แสนราย โรงงานปิดตัวแล้วกว่าหมื่นแห่ง มีโรงงานจ่อปิดตัวต่อเนื่อง "โอฬาร" มั่นใจรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ คาดปีหน้าจีดีพีโต 4% พร้อมสั่งสำรวจภาวะจ้างงานปี 2552 นักลงทุนญี่ปุ่นรับปากไม่ปลดคนงาน ด้าน ส.อ.ท.จี้รัฐหามาตรการแก้ปัญหาเลิกจ้างงานปีหน้า
  • จีดีพีญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องสองไตรมาส นำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ไตรมาสสามขยายตัวเพียง 0.1% หลังไตรมาสสองโต 0.9% หวั่นสองไตรมาสหน้าจีดีพีจะยังหดตัวอีก คาดการณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยต่ำมากใกล้ 0% ด้านผู้นำสิงคโปร์ยอมรับประเทศถดถอย อาจติดลบต่อเนื่องตลอดปีหน้า
  • "โอฬาร" ชี้วิกฤติการเงินสหรัฐผลักดันจีน ขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินใหม่ของโลก ระบุวิกฤติกดดอลลาร์เหือดแห้งจากระบบ สกุลเงินหยวนและเงินเยนเข้าแทนที่ คาดใช้เงินแก้ปัญหา 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ "เกษม" เตือนคนไทยรับมือ 4 วิกฤติ
  • จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น ขยายตัวในอัตราที่ลดลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมโต 12-14% จะเหลือเพียง 6-7% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
  • แบงก์ต่างชาติดาหน้าปรับขึ้นรายได้ขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น 1.8-2 หมื่นบาทต่อเดือน หวั่นเอ็นพีแอลพุ่งจากภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าขั้นวิกฤติ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไตรมาส 4 ธุรกิจบัตรไม่เฟื่องฟูเร่งงัดแคมเปญตลาดกระตุ้น ด้านฐิติกรสนทำธุรกิจติดตามหนี้ เสริมรายได้อนาคต พร้อมขยายสาขาเพิ่ม 4 แห่ง
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลไม่สามารถตั้งงบประมาณ ขาดดุลเพิ่มเติม หลังจากได้ตั้งงบ กลางปี 1 แสนล้านบาท ได้อีกแล้ว
  • แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยจากการประเมินข้อมูลตัวเลขจริงล่าสุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ในไตรมาส 3 ปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4-4.5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะโตได้ที่ระดับ 5-5.3% เนื่องจากมีปัจจัยจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่รุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • ก.ล.ต.ยันไม่มีสิทธิปิดกั้นหุ้นเบียร์ช้างเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ชี้แบบไฟลิ่งมีผลอนุมัติ 21 พ.ย.นี้ เหตุคุณสมบัติถูกต้องตามเกณฑ์โยนลูกให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาต่อว่าจะให้นำหุ้นเข้ามาซื้อขายหรือไม่ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านรอฟังคำตอบจากตลาดภายในสัปดาห์หนี้
  • กระทรวงการคลัง เดือน ต.ค.ขาดดุลเงินสด 6 หมื่นล้านบาท "สมชัย" สีข้างถู สอดคล้องนโยบายรัฐ โวเศรษฐกิจไทยปี 52 ยังโตได้ 4% แต่เตรียมปรับประมาณการ ธ.ค.นี้ ย้ำยังไม่เห็นสัญญาณถดถอย ค้านเพิ่มงบกลางเกิน 1 แสนล้านบาท หวั่นผิดวินัยการคลัง ยกร่าง กม.หลักประกันทางธุรกิจเสร็จแล้ว จ่อชง "สุชาติ" พิจารณา
  • บล.ธนชาต ชี้พื้นฐาน บจ.ไทยแกร่งสวนวิกฤติโลก คาดครึ่งปีหลังทั้งระบบกำไรร่วม 4 แสนล้านบาท มั่นใจดัชนีไม่หลุด 300 จุด แม้เอ็มเอสซีไอลดน้ำหนักหุ้นไทยและถอดปูนใหญ่-ซีพีเอ็น ออกจากดัชนี ขณะที่ ก.ล.ต. คุมเข้ม บลจ.-บล. รายงานสินทรัพย์สภาพคล่องแบบวันต่อวัน ด้าน บลจ.เชื่อ ทีเอสเอฟซีเพิ่มทุนไม่ทันเดือนนี้แนะรัฐดึงแบงก์ถือหุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ