นาย Vinod Sureka ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL คาดว่าผลประกอบการช่วงครึ่งหลังของงวดปี 51 (เม.ย.51-มี.ค.52) จะทำรายได้ใกล้เคียงครึ่งปีแรกที่มีรายได้กว่า 3 พันล้านบาท
ส่วนในงวดปีหน้ายังมีความหวังว่าผลประกอบการจะออกมาใกล้เคียงปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยลง เนื่องจากบริษัทจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นราว 5-6% จากปัจจุบันที่มี 1.5 แสนตัน/ปี โดยกำลังการผลิตใหม่จะเข้ามาในช่วง 6 เดือนแรกของงวดปี 52 เป็นการผลิต CPP 1 หมื่นตัน/ปี มูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีตลาดสำคัญได้แก่ ตลาดในประเทศ และอาเซียน
"แม้ว่าปีหน้าลูกค้าของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจถดถอย แต่เราก็พยายามขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ทดแทนอเมริกาและยุโรป และยังหวังว่าผลประกอบการในงวดปี 52 จะใกล้เคียงกับงวดปี 51"นาย Vinod กล่าว
สำหรับกลยุทธในปี 52 บริษัทพยายามหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติโลกที่เชื่อว่าตลาดในสหรัฐและยุโรปจะชะลอตัว โดยมีแผนการลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการแผ่นฟีล์มชนิดพิเศษกำลังผลิตกว่า 8 หมื่นตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากเป็นการลงทุนสูง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วง ม.ค.-ก.พ.52
นาย Vinod กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย เนื่องจากผู้ส่งออกจากจีน บราซิล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความผิดด้านภาษีในการสอบสวนกำหนดค่าพิกัดอากรคำสั่งซื้อโดยทางการสหรัฐ ทำให้มีปัญหาในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยจะเห็นได้จากครึ่งแรกของงวดปี 51 บริษัทส่งสินค้าไปขายให้กับสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 5.7 พันตัน จากทั้งปี 50 ที่เคยขายได้ 6.03 ตัน หรือเพิ่มเป็นสองเท่า
ในช่วงครึ่งแรกของงวดปีนี้บริษัทใช้กำลังผลิตเพิ่มเป็น 107% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ใช้ 103% โดยมีฐานการผลิตในประเทศไทย ตุรกี และ อินเดีย ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิต แม้ว่าจะมีการเพิ่มกำลังผลิตมาแล้วบางส่วนในดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้บริษัทมีรายได้ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก แม้ว่าแนวโน้มราคาพลาสติก PET จะปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปี โดยเริ่มเห็นสัญญาณในเดือน ต.ค.-พ.ย. ซึ่งราคา PET ผันผวน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
ขณะที่บริษัทจะต้องเร่งหาฐานลูกค้าใหม่ ๆ เนื่องจากลูกค้าหลัก 80% อยู่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และ 18% อยู่ในอุตสาหกรรมหลัก และ 1% อยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคืออุตสาหกรรมหลัก ส่วนกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในปี 52 สถานการณ์ยังเป็นบวก ก็จะช่วยถัวเฉลี่ยกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
พร้อมกันนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวก็จะต้องเข้มงวดในการปล่อยเครดิตให้ลูกค้าบางกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับบริษัท
นาย Vinod กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้บริษัทได้เริ่มศึกษาโครงการซื้อหุ้นคืนไปบ้างแล้ว แต่ขอรอดูสถานกาณณ์ในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ว่าสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจะกระทบต่อราคาหุ้นในกระดานหรือไม่ โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปผลศึกษาภายใน 3-4 เดือนจากนี้