(เพิ่มเติม) PTTCH เล็งทบทวนเป้าหมายรายได้ปี 52 จาก 1.2 แสนลบ.หลังปีนี้พลาดเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 18, 2008 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เคมิคอล(PTTCH)คาดว่า ในปีนี้บริษัทจะทำรายได้ 8.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายเดิม 9.97 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปริมาณความต้องการและราคาปิโตรเคมีปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นบริษัทยังเตรียมทบทวนเป้าหมายรายได้ในปี 52 ที่เคยตั้งไว้ในระดับ 1.2 แสนล้านบาทด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

"เราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงแค่ไหน แต่ตอนนี้ดีมานด์เกิดช็อค ผมว่าวันนี้ยังไม่ใช่ของจริง ต้องรอดูอีกสักระยะ" นายวีรศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ ในปีหน้าคาดว่า PTTCH จะได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตไม่มากนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังจำเป็นต้องใช้ ประกอบกับบริษัท ลดต้นทุนการผิตต่ำและให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งจะกระจายฐานลูกค้าให้มากขึ้น

"ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ แต่เราจะปรับตัวอย่างไรในสภาวะแบบนี้ "นายวีรศักดิ์ กล่าว

ขณะนี้ ส่วนต่างราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์(สเปรด)ปิโตรเคมีปรับตัวลดงอย่างรุนแรงในไตรมาส 4/51 เนื่องจากราคาขาย และราคาแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบปรับตัวลงตามราคาน้ำมัน ตามข้อมูลของ CMAI คาดว่าในปี 51 สเปรดของเอทิลีนอยู่ที่ 315 เหรียญ/ตัน , สปรดของโพรพิลีนอยู่ที่ 424 เหรียญ/ตัน และสเปรดของ HDPE อยู่ที่ 630 เหรียญ/ตัน อย่างไรก็ดี คาดว่าโรงงานผลิตปิโตรเคมีของจีนและประเทศในตะวันออกกลางในปีหน้าก็จะเลื่อนออกไป ทำให้ปริมาณในตลาดโลกไม่เพิ่มมาก

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4/51 ความต้องการปรับตัวลงอย่างรุนแรง บริษัทได้มีแผนหยุดซ่อมบำรุงหน่วยผลิต เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม 2 โรงเป็น 6 โรง ซึ่งภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มเป็น 2.12 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบัน 1.75 ล้านตัน/ปี และกำลังการผลิตโมโนเอทิลีน ไกลคอล(MEG)จะเพิ่มเป็น 3.95 แสนตัน/ปี จากปัจจุบัน 3.23 แสนตัน/ปี

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการผลิต หากดีมานด์กลับมา โรงงานของบริษัทสามารถกลับมาผลิตได้ทันเมื่อมีคำสั่งซื้อกลับมาผลิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะโรงงาน HDPE และโรงงาน BPE

ส่วนการลงทุนในปี 52 ยังเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้โดยใช้เงินลงทุน 2.34 หมื่นล้านบาท โดยโครงการสำตัญยังเดินหน้าตามแผน ได้แก่ โรงงานขยายการผลิตเม็ดพลาสติก 3 โรง รวม 1 ล้านตันต่อปี และโรงงานแครกเกอร์ อีก 1 แห่งกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ แผนลงทุน 5 ปี(ปี 51-55) ยังคงเดินตามแผนเดิมภายใต้วงเงิน 6.97 หมื่นล้านบาท

บริษัทต้องหาแหล่งเงินทุนราว 7 พันล้านบาทในปี 52 ซึ่งอาจจะออกเป็นหุ้นกู้อีกก็ได้ หลังจากในปลายปีนี้บริษัทได้ออกหุ้นกู้มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี และ 7 ปี เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในวันที่ 1-3 ธ.ค.51

ขณะที่การลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนาม คงต้องกลับมาทบทวนดูเพื่อความรอบคอบ เพราะขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งขณะนี้บริษัทมีเพียงสำนักงานตัวแทนขายในเวียดนามเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ