ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศปรับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive) แก่อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารไทยธนาคาร หรือ BT จากเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving)
การปรับเครดิตพินิจเป็นบวกเกิดขึ้นหลังจากการขายหุ้นจำนวน 42.13% ใน BT ที่ถือโดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือ FIDF ให้กับ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ได้เสร็จสิ้นลง โดยยังรอความชัดเจนในการที่ CIMB จะทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือ (tender offer) เพิ่มเติม และการเพิ่มทุนให้แก่ BT ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นลงภายในไตรมาสแรกปี 2552 ปัจจุบันฟิทช์ให้อันดับเครดิตแก่ BT เฉพาะอันดับเครดิตสนับสนุนเท่านั้น โดยธนาคารมีอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘4’
ฟิทช์คาดว่าน่าจะสามารถปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนของ BT ไปที่ระดับ ‘3’ ได้หาก CIMB ถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งใน BT จากการทำคำเสนอขอซื้อหุ้นเพิ่มเติมจากการทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือ และหลังจากการเพิ่มทุนในอนาคต ทั้งนี้การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนยังคงขึ้นอยู่กับการพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของนโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการสนับสนุนระยะยาวจาก CIMB ที่จะให้แก่ BT ด้วย
ผลประกอบการโดยรวมของ BT ยังคงอ่อนแอ โดยผลประกอบการในปี 2551 ได้รับผลกระทบมาจากการบันทึกผลขาดทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมากจากการลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO ตามราคาตลาด (mark to market loss) BT รายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 1 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 หลังจากประกาศผลขาดทุนสุทธิจำนวน 6.9 พันล้านบาทในปี 2550 เนื่องจากผลขาดทุนจากการลงทุนในตราสารหนี้ประเภท CDO และการกันสำรองหนี้สูญจำนวนมาก ในขณะที่ BT สามารถรักษาอัตรากำไรส่วนต่างได้ที่ประมาณ 3% รายได้ของธนาคารกลับลดลงเนื่องจากการหดตัวของการลงทุนและสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 BTได้ขายเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท CDO ที่เหลือทั้งหมด และบันทึกกำไรจากการขายจำนวน 970 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2551 ผลขาดทุนสะสมจากการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนจนถึงวันที่ขายเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของราคาทุน โดยผลขาดทุนจำนวน 2.9 พันล้านบาทได้ถูกบันทึกในครึ่งแรกของปี 2551
BT ยังคงมีความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศอื่น ๆ อีกจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 7% ของสินทรัพย์รวม โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่ออกโดยภาครัฐบาล (sovereign notes) และหลักทรัพย์ที่ออกโดยสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามจากแรงกดดันในภาคการธนาคารและภาครัฐบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป หลักทรัพย์บางส่วนดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลขาดทุนในการบันทึกราคาตามราคาตลาดถ้าสภาวะตลาดยังคงทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 BT มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 1.41 หมื่นล้านบาท หรือ 15.1% ของสินเชื่อทั้งหมด ลดลงจาก 1.44 หมื่นล้านบาท (14.7%) ณ สิ้นปี 2550 เนื่องมาจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ธนาคารมีระดับสำรองหนี้สูญที่ 1.0 หมื่นล้านบาท หรือ 73.5% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับธนาคารอื่น ๆ ในประเทศ ฟิทช์ประมาณอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และเงินกองทุนทั้งหมดของ BT ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ที่ 3.0% และ 4.5% ของสินทรัพย์เสี่ยงตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด CIMB วางแผนที่จะเพิ่มทุนใน BT จำนวนไม่เกิน 6 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 13% ถึง 15%
CIMB Group Sdn Bhd หรือ CIMB Group เป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย และถือหุ้น 99.99% ใน CIMB ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทหลักของกลุ่ม CIMB Group มีผู้ถือหุ้นหลักคือ Bumiputra-Commerce Holdings Bhd หรือ BCHB ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย โดย BCHB มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Khazanah ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของรัฐบาลมาเลเซีย และยังมีองค์กรอื่นๆ ของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งถือหุ้นรวมกัน 46% CIMB Groupได้ขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคนี้ในช่วงที่ผ่านมา โดยได้เข้าไปถือหุ้น 78% ใน PT Bank CIMB Niaga ประเทศอินโดนีเซีย และได้ทำการเสนอซื้อหุ้น 19.99% ใน Bank of Yingkou ประเทศจีน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 BCHB รายงานผลกำไรจำนวน 0.5 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีสินทรัพย์มากกว่า 5.4 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ