กลุ่มยานยนต์ แนวโน้มเป็นลบ เล็งรับวิกฤตการเงินโลก,ยอดผลิตรถเริ่มไม่โต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 20, 2008 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยยอดการผลิตรถยนต์ประจำเดือน ต.ค. ที่ผ่านมามีจำนวนเท่ากับ 124,656 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 0.65% แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 53,971 ล้านบาท ลดลง 2.8% และ ผลิตเพื่อส่งออก 70,685 คัน เพิ่มขึ้นเพียง 3.46% อย่างไรก็ตามยอดส่งออกรถยนต์จริงไปต่างประเทศยังขยายตัวเท่ากับ 15.49% สู่ระดับ 67,549 คัน

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ระบุว่า กลุ่มยานยนต์ มีแนวโน้มเป็นลบ เนื่องจากยอดผลิตรถยนต์เดือนต.ค.เริ่มไม่ขยายตัว โดยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจากวิกฤตการเงินโลก

วิกฤตทางการเงินโลก ได้เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง และต่อเนื่องให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย คาดจะส่งผลกระทบต่อความต้องการรถในตลาดโลก และจะส่งผลกระทบด้านลบต่อเนื่องมายังตลาดส่งออกรถยนต์ไทย โดยในช่วง 10 เดือนแรกประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึง 56% ของยอดผลิตรถยนต์รวม ในขณะที่ความต้องการในประเทศที่ยังหดตัว โดยเฉพาะรถกระบะปิกอัพ จากปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ

สำหรับวิกฤตผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯน่าจะเป็นการสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯต่ำกว่าผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นได้ก้าวมาเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ของโลก ซึ่งจะช่วยเสริมต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในระยะยาวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ดังนั้น จึงมีมุมมองต่อกลุ่มนี้เป็นลบในระยะสั้น และระยะยาว สำหรับกลุ่มยานยนต์

ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 3 ราย คือ General Motors, Ford Motor และ Chrysler LLC ได้ยืนขอความช่วยเหลือทางการเงินคิดเป็นมูลค่า 25 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อพยุงฐานะถึงปี 2552 จากการขาดสภาพคล่องและประสบการขาดทุนอย่างหนัก โดยผู้ผลิต 3 รายมีการจ้างงานรวมเท่ากับ 266,000 คน (GM 120,000 คน, Ford 80,000 คน และ Chrysler LLC 66,000 คน)

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง คือผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในสหรัฐอีก 14,000 แห่ง คิดเป็นการจ้างงาน 740,000 คน เรามองว่าผู้ผลิตรถยนต์ 3 รายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับไทยค่อนข้างน้อย ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยส่วนใหญ่จะจำหน่ายไปยังบริษัทผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น เช่น Toyota , Honda, Mitsubishi และ Nissan ซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันเหนือผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ โดยปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำ "ซื้อ"หุ้น SAT (ราคาเหมาะสม 15.0 บาท) และ STANLY (ราคาเหมาะสม 135 บาท) แต่ช่วงนี้ควรรอดูสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมด้านลบผ่อนคลายก่อน

ด้านบทวิเคราะห์ บล.ธนชาต มองว่า กรณีที่ General Motors (Thailand) ปลดคนงาน 20% และหยุดผลิต 2 เดือน คาด real sectors อื่นๆ จะมีปัญหาเช่นกัน นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มยานยนต์แล้ว อุตสาหกรรมชิ้นส่วนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่น่าจะถูกกระทบมากสุดคือ AH ส่วน STANLY และ IRC มีฐานลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น

วานนี้(19 พ.ย.)ราคาหุ้น SAT ปิดที่ 5.30 บาท ลดลง 0.05 บาท(-0.93%)มูลค่าซื้อขาย 1.65 ล้านบาท

หุ้น STANLY ปิดที่ 72.00 บาท ลดลง 0.50 บาท(-0.69%)มูลค่าซื้อขาย 3.77 ล้านบาท

หุ้น AH ปิดที่ 3.50 บาท ลดลง 0.16 บาท (-4.37%) มูลค่าซื้อขาย 0.6 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ