ตลท.ขจัดอุปสรรคสร้างดีมานด์นำซัพพลาย ยังย้ำบทบาทกำกับดูแล เดินหน้าเปิดเสรี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 20, 2008 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ถึงกลยุทธฝ่าวิกฤติตลาดหุ้นซบเซาทั่วโลก เตรียมความพร้อมลุยหลังผ่านหน้ามรสุม เร่งคลายกฎเกณฑ์ดันทุกทางเพื่อสร้างดีมานด์เข้าตลาดเป็นตัวนำซัพพลายเพิ่มตามเข้ามา อาศัยจังหวะต่างชาติถอยปรับสัดส่วนผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มให้ใกล้เคียงกันเพื่อเสริมเสถียรภาพ คาดงาน SET in the City ช่วยดันเม็ดเงินเข้าตลาดอีกไม่น้อย โดยเฉพาะจากการขยายฐานลูกค้าใหม่

พร้อม ย้ำบทบาทกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดให้มีสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับควบคุมความเสี่ยงให้เหมาะสม โดยยืนยันไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคลายกฎเกณฑ์ที่จะทำให้น้ำหนักทั้งสองด้านลดลง

"สถานการณ์ตลาดเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ต้องทำคือเพิ่มดีมานด์เข้ามาตลาด ถ้าดีมานดีแล้ว ซัพพลายเข้ามาเมื่อไร ก็ยิ่งดีต่อตลาด" นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าว

ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวม(Market Cap)ของตลาดหุ้นไทยหายไปครึ่งหนึ่งเหลือ 3.3 ล้านล้านบาท จากต้นปีอยู่ที่ 6.6 ล้านล้านบาท ขณะที่บริษัทจดทะเบียน(บจ.)ใหม่ในปีนี้มีแค่ไม่ถึง 20 บริษัทพลาดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 37 บริษัท ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของดีมานด์ เพื่อดึงซัพพลายเข้ามาเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งผลักดัน

"อย่างเรื่องการเข้าตลาดของบริษัทที่จะเข้าปีนี้ส่วนใหญ่ก็ชะลอออกไป ส่วนที่ยกเลิกก็มีบ้างแต่ว่าน้อย เพราะเมื่อไฟลิ่งผ่านแล้วเขาก็ยังอยากเข้าตลาด เขารอขายไอพีโอก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง"

นางภัทรียา กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยคงไม่ลงไปเลวร้ายเช่นปี 40 เนื่องจากยังเชื่อว่าพื้นฐานของบจ.ยังแข็งแรง แม้ว่าในงวด 9 เดือนของปี 51 บจ.มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12% และมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 23% เทียบกับ 6 เดือนแรกของปีนี้ บจ.มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 20% และยอดขายเพิ่มขึ้น 48%

*เร่งสร้างดีมานด์เข้าตลาดทุกทาง

นางภัทรียา กล่าวว่า ตลท.คาดหวังว่าการจัดงาน SET in th City'2008 ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย.51 จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินลงทุนมาอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะจะช่วยขยายฐานนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมามาก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี

"จากนี้ถึงสิ้นปี เราน่าจะได้เงินจากองทุนแมชชิ่งฟันด์ที่ทำกับบจ.และบริษัทสมาชิกเข้ามาในตลาดอีกสักก้อนหนึ่ง และก็จากงาน SET in th City ที่เราไปจัดที่สยามพารากอนก็คิดว่าน่าจะขยายฐานนักลงทุนที่ไม่เคยลงทุนเลย ภาวะอย่างนี้เป็นช่วงผันผวน เราคงมีช่วงเวลาที่จะทำอะไรได้อีก “นางภัทรียา กล่าว

นางภัทรียา กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มดีมานด์ในตลาดหุ้น โดยคาดว่าการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับเงินลงทุนในกองทุน LTF และ RMF จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่เงินลงทุนจากแมทชิ่งฟันด์ 5 กองกำลังทยอยเข้าตลาด หลังจากเม็ดเงินกองแรกได้เข้าซื้อหุ้นแล้วเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา และตลท.ยังอยู่ระหว่างเจรจาบจ.ที่สนใจเพื่อตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์เพิ่มเติม

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นกระตุ้นตลาดทุน ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนร่วมทุนหรือแมทชิ่งฟันด์ระหว่างตลท.และภาคเอกชนวงเงิน 2 พันล้านบาท, จัดตั้งกองทุนร่วมทุนระหว่างตลท.กับสถาบันการเงิน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และขยายวงเงินลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนใน LTF และ RMF จากเดิมไม่เกินรายละ 5 แสนบาทต่อปี เป็นไม่เกิน 7 แสนบาทต่อปี

นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน(บจ.)ที่มีสภาพคล่องสูงเข้ามาซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินกลับเข้ามาสู่ตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากมีบจ.กว่า 80 แห่งที่แสดงความสนใจ และหลายแห่งเข้าเกณฑ์ที่สามารถซื้อหุ้นคืนได้ ซึ่งตลท.ก็จะผ่อนคลายกฎเกณฎ์ต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวย ทั้งการขยายขอบเขตการบริหารจัดการหุ้นที่ซื้อเข้ามาแทนการขายคืนผ่านตลาดหุ้นอย่างเดียว และ เปิดทางให้สามารถเพิ่มทุน

“อย่างที่รู้ว่า มาตรการที่ออกมาคงไม่ได้ต่อสู้กับภาวะในขณะนี้ เป็นเรื่องมีความมั่นใจว่าภาวะช่วงนี้เมื่อผ่านพ้นไปแล้วก็จะดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามดูต่อไปจนถึงสิ้นปีว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร"นางภัทรียา กล่าว

มาตรการต่าง ๆ ที่ทางการได้ผลักดันออกมาในขณะนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นการปรับสัดส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย จังหวะที่นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นออกไปมาก แต่ก็จะมีนักลงทุนสถาบันเข้ามามากขึ้น ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีก่อน หรือ ปี 46 มีสัดส่วนเพียง 5-6% จากนั้นในปี 50 สัดส่วนเพิ่มมาที่ 14% และ ณ 10 พ.ย.51 สัดส่วนนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นมา 17% ซึ่งนับว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเร็วพอสมควร

"สิ่งเหล่านี้ คาดหวังให้เกิดการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน ขณะนี้เพิ่มมาเป็น 17% จากปีก่อนที่มี 14% และยังเห็นว่าทำให้ตามแผนพัฒนาตลาดหุ้นให้มีนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย และ นักลงทุนต่างประเทศ ที่มีต้องการให้แต่ละกลุ่มมีสัดส่วนการลงทุน เป็น 1 ใน 3 ของตลาดรวม"ผู้จัดการ ตลท.ระบุ

*ยืนยันบทบาทส่งเสริมสภาพคล่องควบคู่คุมความเสี่ยง เชื่อเดินถูกทางสู่การเปิดเสรี

ผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า บทบาทของตลท.ยังคงยืนยันในการทำหน้าที่ดูแลให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง ขณะเดียวกับก็ต้องดูแลในด้านความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง ขั้นตอนการเปิดเสรีต่าง ๆ จะเดินต่อไปตามแผนงาน

“มุมมองของเราต้องทำให้ตลาดสมดุลกัน ไม่ใช่เปิดเสรีไป ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้มาทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือมาทำให้ตลาดบิดเบือนจากที่ควรจะเป็นโดยไม่เหมาะสม…แต่มาตรการที่ผ่อนคลายเราก็ทำ อย่างเรื่องซื้อหุ้นคืน ก็ทำเวลาสั้นลง แก้ไขข้อติดขัด"

นางภัทรียา กล่าวว่า เปิดเสรีตลาดหุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังเป็นไปตามแผน เช่น การปรับลดค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ คือแผนที่อยู่ pipeline ไม่ได้เลื่อนหรือยกเลิกไป แม้ว่าขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์ขอทบทวนแผนบางส่วน โดยเฉพาะการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ซึ่งตลท.ก็ยังต้องขอประเมินสถานการณ์ก่อน แต่ก็ยืนยันว่าแผนการเปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไปมีความเหมาะสม

“เราคิดว่าเราเปิดเสรีอยู่แล้ว เริ่มทยอยเปิด แผนยังอยู่ใน pipeline ก็ยังไม่ได้ delay หรือไม่ได้ยกเลิกอะไร แต่บริษัทหลักทรัพย์อยากจะขอทบทวนได้ไหม เรื่องค่าคอมมิชชั่นอะไรพวกนี้ ก็ขอประเมินสถานการณ์ ฉะนั้นก็คิดว่าเราได้เปิดเสรี และเปิดรับอย่างเหมาะสม การที่เราทำไปเป็นขั้นเป็นตอน เป็นข้อดี“ นางภัทรียา กล่าว

ส่วนการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ หรือการปรับโครงสร้างองค์กรของตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังเป็นไปตามแผน โดยจะเริ่มต้นปี 52 ที่ปรับโครงสร้างองค์กร โดยหลักจะมีส่วนพัฒนาตลาดและฝ่ายการปฏิบัติการ เพื่อเป้าหมายให้เกิดงานที่มีประสิทธิภาพ ดูแลลูกค้าหรือบริษัทจดทะเบียนให้เป็นไปในเชิงธุรกิจมากขึ้น

แม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงไปมากจากช่วงต้นปี โดยปรับลดลงไป 46.81% ในช่วง 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.51)จาก 858.10 จุด มาอยู่ที่ 456.44 จุด แต่ปริมาณการซื้อขายหรือวอลุ่มตลาดยังมีเสถียรภาพดีอยู่ โดยปรับลงไปเพียง 1.09% มาที่ 17,246 ล้านบาท/วันจาก 17,436 ล้านบาทเมื่อต้นปี

ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกันวอลุ่มตลาดปรับลงไปมาก ได้แก่ ตลาดหุ้นนิเคอิ ของญี่ปุ่นลงไป 19.73%, ตลาดหุ้นฮั่งเส็ง ลดลง 17.72% ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ลงไป 37.62% ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลงถึง 41.24% และ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ก็ลงไป 44.23%

"ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเสถียรภาพมาก อย่างวอลุ่มตลาดเท่าที่ทำสถิติในช่วง ม.ค.-ก.ย. ของตลาดหุ้นอื่นเขาติดลบ อย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ วอลุ่มตลาดเขาหายไป 40 กว่า% ส่วนของไทยเราพูดไปแล้วเกือบเท่าเดิม ติดลบแค่ 1% มาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท/วัน ก็จะเห็นได้ว่าคนก็ยังเข้ามาทำการซื้อขายอยู่"นางภัทรียา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ