AOT คาดปี 52 ปริมาณผู้โดยสารโตแค่ 1-2% จากปกติโตเฉลี่ยปีละ 5-6%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 20, 2008 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) คาดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบให้การขยายตัวของปริมาณผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2552 เหลือเพียง 1-2% จากปกติที่จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5-6%

"ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ปริมาณผู้โดยสารในเดือนกันยายยนลดลงประมาณ 10% และคาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2552 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 1-2% จากปกติที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6%" นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

ทั้งนี้ AOT อยู่ระหว่างการศึกษามาตรการช่วยเหลือสายการบินที่ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีมาตรการเบื้องต้น ได้แก่ การปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงและการจอดอากาศยาน(LANDING&PARKING FEE) การขยายเวลาให้สายการบินในการชำระค่าธรรมเนียม โดยอาจขยายเวลาเป็น 45 วัน จากปัจจุบันที่ต้องชำระใน 30 วัน

"มาตรการเหล่านี้อาจกระทบต่อรายได้บ้าง แต่ดีกว่าไม่มีสายการบินเข้ามา ซึ่งเราจะไม่ได้อะไรเลย การกำหนดมาตรการช่วยเหลือจะต้องดูภาวะตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจประกอบกันด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 2-3 เดือน และจะเริ่มใช้ตั้งแต่ตารางบินฤดูร้อน จนถึงตารางบินฤดูหนาวในปี 2552 รวมเป็นเวลา 1 ปี" นายเสรีรัตน์ กล่าว

รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ AOT ได้พิจารณาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจการจ้าง และคณะกรรมการตรวจสอบ เรื่องการให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ไทยแอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด(แท็กส์) โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างระบุว่า บริษัทแท็กส์นำรถเข็นมาให้บริการไม่ครบจำนวน 9 พันคันตามสัญญา และเห็นควรให้เป็นไปตามสัญญา โดยตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย พิจารณาว่า AOT สามารถยกเลิกสัญญาบริษัทแท็กส์ได้หรือไม่

พร้อมกันนี้ ฝ่ายบริหาร AOT ต้องพิจารณารายละเอียดควบคู่กันถึงมาตรการรองรับกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญา เพื่อให้บริการรถเข็นกระเป๋าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบัน AOT ว่าจ้างแท็กส์เดือนละประมาณ 6 ล้านบาท ให้เป็นผู้บริหารจัดการรถเข็น และได้ระงับการจ่ายเงินค่าจ้างในแต่ละเดือนแล้ว เพราะถือว่าจำนวนรถเข็นที่บริษัทแท็กส์นำมาให้บริการไม่เป็นไปตามสัญญา และใช้มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการให้บริษัทเพิ่มจำนวนพนักงานและเพิ่มรอบความถี่ในการจัดเก็บรถเข็น เพื่อหมุนเวียนให้ผู้โดยสารใช้บริการได้อย่างทั่วถึง

สำหรับมาตรการรองรับเบื้องต้นหากต้องเลิกสัญญามี 2 แนวทาง คือ AOT จัดซื้อรถเข็นมาให้บริการ ซึ่งอาจมีความล่าช้า เพราะต้องเสนอขออนุมัติงบประมาณตามขั้นตอน หรือให้เอกชนเป็นผู้จัดซื้อและบริหารจัดการรถเข็นเช่นเดียวกับการว่าจ้างบริษัทแท็กส์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ