โบรกฯมองแบงก์ไทยปีหน้าเผชิญศึกหนักเสี่ยง NPL-สำรองเพิ่ม แต่ยังฝ่าไปได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 21, 2008 09:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์มองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปีหน้ารับบทหนักรายได้ลดกำไรหดจากภาระตั้งสำรองเพิ่มรับความเสี่ยงจากหนี้เอ็นพีแอลและการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน ขณะสินเชื่อเติบโตได้น้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าแบงก์ไทยยังเอาตัวรอดได้แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินครั้งนี้

นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เชื่อว่า สถาบันการเงินไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินโลกแน่นอน แต่ไม่ถึงล้มละลายเหมือนปี 40 เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนแข็งแกร่ง ซึ่งราคากลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็ได้สะท้อนบางส่วนแล้ว

"เราเห็นว่าภาวะวิกฤตครั้งนี้ สถาบันการเงินไทยโดนแน่ๆ ซึ่งก็จะกระทบแบงก์ก่อน ตามมาด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว...แต่ยังโชคดีที่ราคาหุ้นลงมาต่ำมาก"นายกวี กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"สถาบันการเงินไทย ภายใต้วิกฤตโลก"

ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์เห็นได้ชัดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และการลดลงของราคาสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของธนาคาร ได้แก่ ราคาบ้าน และที่ดิน ซึ่งหากราคาสินทรัพย์ลดลงเกินกว่า 10% ธนาคารก็ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก

รวมทั้ง การขยายตัวของสินเชื่อจะลดลง และรายได้จากค่าธรรมเนียมก็จะลดลง ก็จะส่งผลให้รายได้ของกลุ่มธนาคารลดลง ขณะที่ความสามารถทำกำไรก็ลดลงด้วย

ด้านน.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเกอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มปีหน้าคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อสถาบันการเงินจะอยู่ในระดับไม่เกิน 5-6% หากเศรษฐกิจไทยเติบโต 3% ทำให้มาร์จิ้นมีไม่มาก โดยอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)จะไม่สูง รวมทั้งการเติบโตกำไรของน้อยทำให้การจ่ายเงินปันผลก็น้อยลงตามไปด้วย แต่ก็เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะผ่านวิกฤตไปได้

ในไตรมาส 4/51 จะได้เห็นการปล่อยสินเชื่อเริ่มชะลอตัวทั้งสินเชื่ออุตสาหกรรม สินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมไปถึง บัตรเครดิต

หากพิจารณาลงลึกไป ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เน้นสินเชื่อเอสเอ็มอี ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เน้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ก็เน้นสินเชื่อรายย่อย ทั้งหมดก็มีความเสี่ยงทั้งสิ้น นอกจากนี้ BBL ก็ยังมีความเสี่ยงที่มีเงินลงทุนในต่างประเทศ ราว 20% ซึ่งคาดว่าจะต้องตั้งสำรองเพิ่มด้วย

"ธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งครั้งนี้ Real Sector เจอผลกระทบ ส่งออกไม่ได้ ก็ส่งผลต่อเนื่องมายังธนาคาร" น.ส.อาภาภรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก็มอง KBANK เป็นหุ้น top picks ในกลุ่มธนาคาร เพราะมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และมี NPLต่ำสุดของกลุ่มแบงก์คือที่ประมาณ 4% ขณะที่ NIM มีอัตราสุงสุดอยู่ที่กว่า 4% และเชื่อว่าการปรับลดการเติบโตของสินเชื่อ ธนาคารหันมาเน้นคุณภาพสินเชื่อ

ส่วน น.ส.วิริยา ลาภพรหมรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กลับมองหุ้น SCB เป็น top picks ในกลุ่มธนาคาร เพราะมีผลประกอบการที่ดี โดยในงวด 9 เดือนที่ผ่านมาแม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อจะลดลงแต่ทำรายได้และกำไรได้ดี และโครงสร้างรายได้ของ SCB กระจายความเสี่ยงได้ดี

ขณะที่ BAY แม้ว่ายังมีความกังวลเรื่องสถานะของ จีอี แคปปิตอล ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม แต่ปีนี้ BAY ก็ยังได้ประโยชน์ในด้านธุรกิจจากการร่วมือกับจีอีฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ