บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค(PF)ระบุว่ายอดขายของโครงการใหม่ที่เปิดตัวในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาทั้ง 3 โครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 พันล้านบาท เพราะทำได้เพียง 800-1,000 ล้านบาทเท่านั้น เป็นผลจากประชาชนชะลอการใช้จ่าย
แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อรายได้รวมของบริษัทในไตรมาส 4/51 เนื่องจากบริษัทจะมีการรับรู้รายได้ราว 1.5 พันล้านบาท จากยอดขายรอโอน(Backlog)ที่มีทั้งหมด 3 พันล้านบาท
ส่วนในปี 52 บริษัทจะพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้นใกล้เคียงปี 51 ที่ 32%
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ PF เปิดเผยว่า ในปีหน้าเชื่อว่าการแข่งขันธุรกิจอสังหาฯมีความรุนแรงขึ้น ภายใต้อัตราการเติบโตของภาพรวมที่จะชะลอตัวลง แต่บริษัทก็เชื่อว่าจะสามารถทำอัตารากำไรขั้นต้นได้ใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากบริษัทมีการเปิดโครงการที่มีมาร์จินสูงเพื่อรักษาอัตรากำไรขั้นต้น อย่างบางโครงการมีมาร์จินที่สูง รวมทั้งการปรับกลยุทธ์การเปิดโครงการขายรวมถึงรูปแบบการก่อสร้างก็หันมาใช้รูปแบบก่อสร้างสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้ก่อสร้างได้เร็วอีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงและยังเป็นการประหยัดต้นทุน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะรักษา cash flow ให้สมบูรณ์ในปีหน้าที่ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ cash flow ที่ 500 ล้านบาท เพื่อรองรับปัญหาในเรื่องการเงินและการพัฒนาโครงการโดยเม็ดเงินดังกล่าวจะเป็นการทยอยเข้ามาจากการตัดขายที่ดินให้กับ ม.หอการค้าไทยและ ISRจำนวน 450 ไร่ หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาทซึ่งจะเป็นการทยอยเข้ามาในปีหน้าจึงมั่นใจว่าปีหน้ายอดขายจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ที่มียอดขาย 8,000 ล้านบาท
"ปี 52 เราจะต้องระมัดระวังในเรื่อง cash flow อย่างมากเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และการที่ใครรู้ตัวและวางแผนเพื่อรองรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ก่อนกันก็จะทำให้ไม่เจ็บตัว โชคดีที่ปีหน้าเรายังมีบุญเก่าจาก backlog ตอนนี้น่าทำใจหุ้นอสังหาฯราคาถูกกว่าไข่เป็ด หุ้นเรา BV อยู่ที่ 8.40 บาท ตอนนี่แทบจะไม่เหลือราคาแต่เราก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายปันผล" นายธีระชน กล่าว
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้วางเป้าการเติบโตของยอดขายในปีหน้าคงจะไม่มากอยู่ที่ 9,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดรับรู้ก็ใกล้เคียงปีหน้า โดยจะแบ่งเป็นจากคอนโดฯ 700 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 2,000 ล้านบาท บ้านแฝด 500 ล้านบาท และบ้านเดี่ยว 5.5 พันล้านบาท
นายธีระชัย กล่าวว่า ปัจจุบันการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้การตัดสินใจของคนช้ากว่าเดิมถึงแม้ยอดเข้าเยี่ยมชมโครงการจะคงที่ และพบว่าอัตราการยกเลิกในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 25-30% จาก 20-25% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสถาบันการเงินปฏิเสธปล่อยกู้