นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) หรือ KEST ตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์(มาร์เก็ตแชร์)ในปี 52 ไว้ที่ระดับ 8-9% ใกล้เคียงปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจในปีหน้ายังไม่มีความแน่นอน แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามาร์เก็ตแชร์ของบริษัทอยู่ที่ประมาณกว่า 8% แล้ว
ส่วนธุรกิจบริหารจัดการกองทุนนั้น KEST คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)ได้ในปีหน้า จากเดิมที่เคยคาดไว้ในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70-80% และมองว่าธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้
"ความช้าอาจจะกลายเป็นโชคดี หากออกมาตอนนี้อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์" นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่า รายได้ของธุรกิจวานิชธนกิจ(IB)ในปีนี้ยังสูงกว่าปี 50 แม้ว่าอาจจะไม่สูงมากเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 52 พยายามรักษารายได้ให้ได้ใกล้เคียงกับปี 51 และ อาจหันไปเป็นที่ปรึกษา M&A มากขึ้น
"ในเรื่องของวิกฤติที่เกิดขึ้นงาน M&A อาจจะมีมากขึ้น แต่งานอาจไม่ใช่เป็นการปรับโครงสร้างหรือฟื้นฟูกิจการเหมือนปี 40" นายมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลถึงตลาดทุนในขณะนี้ ทำให้ลูกค้า 2-3 รายที่ต้องการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตัดสินใจเลื่อนแผนออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุนรายละราว 200-500 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีมูลค่าการระดมทุนระดับพันล้านบาทเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
นายมนตรี ยังเปิดเผยว่า บริษัทฯ เปิดกว้างในการพิจารณาควบรวมกิจการกับ บล.อื่น โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งหากควบรวมกันแล้วได้รับประโยชน์และส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจมากขึ้นซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯ แต่บริษัทคงต้องขอเป็นหลักสำหรับบล.ที่เล็กกว่าเข้ามาควบรวมเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น
"ยิ่งภาวะเป็นเช่นนี้ เราก็เปิดกว้าง ถ้าบริษัทรวมกันแล้วได้ประโยชน์และแข็งแกร่งมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นแค่หลักการ ซึ่งตอนนี้ข้อมูลภายในยังไม่มีอะไร ถ้าทุกอย่างลงตัวก็พร้อมที่จะเปิดเผย"นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี ยังยืนยันว่า KEST ไม่มีปัญหาที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์(มาร์จิ้นโลน)มากนัก และไม่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทเน้นการดูแลการปล่อยมาร์จิ้นไม่ให้เข้าไปลงทุนกับหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง
นอกจากนั้น บริษัทยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับลดพนักงาน เพราะพนักงานหลักเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด 500 คน มีความจำเป็นในการสร้างธุรกิจและยังมีคุณค่าที่ต้องรักษาไว้ เพราะมองว่าตลาดทุนยังมีการขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่สายงานด้านสนับสนุนถือว่าน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีนโยบายที่จะปรับโคงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพราะบริษัทไม่มีธุรกิจส่วนเกินเหมือนสถาบันต่างปประเทศ
สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้นั้น นายมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ในปี 51 แตกต่างจากปี 40 เนื่องจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทเอกชน ไม่รวมสถาบันการเงิน อยู่ที่แค่ 1.1 เท่า เพราะมีบทเรียนจากในช่วงปี 40 ที่ D/E เพิ่มขึ้นจาก 2.1 เท่า มาที่ 5.1 เท่าหลังจากลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หลังจากนั้นไม่มีการก่อหนี้เกินตัว
ขณะที่วิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐมีความรุนแรงกว่ามาก โดยกลุ่มเลห์แมน บราเธอร์ส มี D/E เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า และ มอร์แกน สแตนเลย์ เพิ่มเป็น 22-23 เท่า ขณะที่สถาบันการเงินไทยที่มีปัญหาวิกฤติในปี 40 มี D/E เพิ่มเป็น 10-11 เท่า เมื่อเทียบกับกรณีของสหรัฐจะเห็นว่ามีความรุนแรงต่างกันมาก
นายมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ในสหรัฐทำให้เกิดการล้มเป็นโดมิโน แต่ถือเป็นความโชคดีของไทย เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนจากวิกฤติในปี 40 รวมทั้ง มีการดำเนินนโยบายบภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีการออกมาตรการกันสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศในช่วงก่อนหน้านี้ เสมือนเป็นการเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว
ขณะที่ปัญหาการเมืองในประเทศ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง แม้จะมีการตัดสินคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาแล้ว แต่ปัญหาไม่ได้ยุติลงอย่างที่คิด ยังมีกระแสการโฟนอินและความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาการเมืองแม้จะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของเศรษฐกิจ แต่คงต้องรอดูว่ามีข้อยุติอย่างไร