นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ (TISCO) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ดำเนินการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ หรือ share swap แล้ว โดยจะเปิดดำเนินการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 51 ถึง 8 ม.ค. 52 นี้
การปรับโครงสร้างการถือหุ้นโดยการตั้งบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปให้เป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม และธนาคารทิสโก้เป็นบริษัทย่อยเช่นเดียวกับบริษัทย่อยอื่นๆของกลุ่มนั้น สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายหลังจากที่พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธนาคารทิสโก้และผู้ถือหุ้นใน 3 ด้านหลัก คือ 1. เพื่อความคล่องตัวและเป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ 2. การใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
นางอรนุชกล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้น ผู้ถือหุ้นของธนาคารทิสโก้ที่ทำการแลกหุ้นมาถือหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งใหม่จะยังคงได้รับสิทธิและเงื่อนไขของการถือหุ้นเหมือนหุ้นเดิมของธนาคารทิสโก้ทุกประการ และยังคงได้รับเงินปันผลตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธนาคารทิสโก้
"สำหรับผู้ถือหุ้นเดิม หากเลือกไม่แลกหุ้น จะยังคงได้รับเงินปันผล ซึ่งจะลดลงประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากรายได้จากบริษัทในเครือจะถูกโอนย้ายออกไปอยู่ที่บริษัทโฮลดิ้ง และจะไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น รวมทั้งยังขาดโอกาสในการทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ Capital gain นอกจากนี้ยังเสียสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์อีกด้วย เนื่องจากภายหลังการปรับโครงสร้างใหม่ จะมีการเพิกถอนหุ้นของธนาคารทิสโก้ออกจากการตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเปลี่ยนเอาหุ้นของทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปเข้าจดทะเบียนแทน ดังนั้นจะไม่มีการซื้อขายหุ้นธนาคารทิสโก้ในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดรองอื่นๆ ผู้ถือหุ้นจึงควรทำการแลกเปลี่ยนหุ้น เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ์ดังกล่าว" นางอรนุชกล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทโฮลดิ้งของทิสโก้ก็เพื่อให้มีบริษัทแม่ขึ้นมาเป็นผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแลกิจการบริษัทในกลุ่มทิสโก้ จากเดิมที่มีธนาคารเป็นบริษัทแม่ เวลาเกิดอะไรขึ้นธนาคารจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของธุรกิจของบริษัทย่อยไปด้วย แต่เมื่อตั้งบริษัทแม่ขึ้นมาดูแลแต่ละบริษัทย่อยมีความเป็นอิสระจากกัน ธนาคารจะมีความเข้มแข็งขึ้นเพราะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงของบริษัทในเครือ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของทิสโก้เข้มแข็งขึ้น และมีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย โดยตัวบริษัทแม่ก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ตามเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม
โดยโครงสร้างของทิสโก้จะเป็นโครงสร้างการถือหุ้นเพื่อประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจริงๆ ไม่ใช่ paper holding ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการโยกย้ายเงินทุนระหว่างกันอย่างที่เห็นกันในต่างประเทศ เราตั้งขึ้นมาภายใต้กฎใหม่ของธปท.เรื่องการกำกับสถาบันการเงินแบบรวมกลุ่ม ซึ่งเราได้ยื่นแผนการดำเนินงานโดยละเอียดทั้งแผนธุรกิจ และนโยบายการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มให้แบงก์ชาติพิจารณาและได้รับการอนุมัติแล้ว
นางอรนุชกล่าวต่อไปว่า การตั้งบริษัทโฮลดิ้งยังทำให้บริษัทสามารถใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเนื่องจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นจะส่งผลให้ธนาคารทิสโก้และบริษัทย่อยจะดำรงเงินกองทุนเฉพาะสำหรับธุรกิจที่แท้จริงของตนเองเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้มีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงเอื้อต่อการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและการร่วมธุรกิจ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อันนำมาสู่การเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต
"ที่เรากำลังจะทำทันทีหลังตั้งบริษัทโฮลดิ้ง คือการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทโตเกียว ลีสซิ่ง เพื่อทำธุรกิจลีสซิ่งในชื่อบริษัท ทิสโก้ โตเกียว ลีสซิ่ง" นางอรนุช กล่าว