บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์(KCE)กัดฟันรักษาเป้ายอดขายในปีหน้าที่ 250-260 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้รอบด้านปรับลดไปแล้ว ยังมั่นใจอนาคตอุตสาหกรรมแผ่นพิมพ์วงจรยังน่าจะไปได้ดีเพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำไปผลิตสินค้าได้หลากหลาย แต่ออร์เดอร์จากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ายังน่าจะทดแทนออร์เดอร์จากกลุ่มยานยนต์ที่ลดลงไปได้
ส่วนปีนี้ยอมรับอาจขาดทุนเล็กน้อย หลัง 9 เดือนออกมากำไรไม่มาก ขณะที่ปัญหาการปิดสนามบินกระทบการส่งสินค้าล่าช้าไปบ้าง แม้ว่าจะยังรอได้เพราะสินค้าไม่เน่าไม่เสีย แต่รัฐบาลก็ควรจะรีบแก้ไขปัญหาไม่ให้ยืดเยื้อไปมากกว่านี้
นายปัญจะ เสนาดิสัย กรรมการ KCE เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะที่ในปี 52 ยังหวังจะรักษายอดขายที่ 250-260 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปีไว้ แม้ว่าหลายบริษัทจะมีการปรับลดเป้ายอดขายลงไปแล้ว 10-20% จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่บริษัทยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมแผ่นพิมพ์วงจรที่ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก(ทั้งระบบ)หรือคิดเป็น 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐน่าจะเติบโตต่อไปได้
"ปีหน้าหวังว่าคงจะ maintian ตัวเลขนี้ได้ในแง่ของปริมาณการผลิตเพื่อขาย ถึงแม้อุตฯรถยนต์ชะลอแต่ก็ยังสั่งซื้ออยู่แต่อาจจะสั่งน้อยลงเท่านั้น แต่ก็มีอุตสาหกรรมอื่นอีกมาก ทั้งคอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์ เครื่องใช้ในบ้าน ตอนนี้เราทำสินค้าพวกไฮเอนด์ที่ทำยากๆ เช่น แผงวงจรที่ใช้กับพวกรถยนต์ แต่ของง่ายๆ เราไม่ทำ เนื่องจากสินค้าไฮเอนด์มาร์จินจะสูงกว่าเฉลี่ย โดยสินค้าไฮเอนด์ก็หวังว่ามาร์จิ้นจะสูงถึง 20% ได้"นายปัญจะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าบริษัทก็เตรียมรับสภาพอยู่แล้ว จริงๆ แล้วตลาดแผ่นพิมพ์วงจร(PCB)ยังใหญ่อยู่ แต่ขณะนี้ทุกคน Over react โดยสิ่งแรกที่ผู้ซื้อทำก็คือลดสต็อก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อออร์เดอร์ช่วงต้นๆ 2-3 เดือนนี้ พออีกหน่อยลูกค้าก็ดูว่าถ้าของยังพอขายได้อยู่ออร์เดอร์ก็คงกลับมาอีก แต่ช่วง 1-2 เดือนนี้ ลดสต็อก (run down) กันหมดคิดว่าทุกอุตฯจะโดนกระทบทั้งหมด
ขณะที่ ผลการดำเนินปีนี้ทั้งปีอาจจะขาดทุนเล็กน้อย จากกำไรสุทธิในรอบ 9 เดือนเพียง 20 ล้านบาท
KCE ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์กว่า 40% เมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมด แต่ขณะนี้กำลังทยอยหาลูกค้าใหม่และออร์เดอร์จากลูกค้าเดิมในกลุ่มอื่นๆ เข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ให้ราคาดี ดังนั้น แม้ลูกค้าในอุตสาหกรรมรถยนต์จะชะลอแต่ก็มีส่วนอื่นมาแทนได้ไม่น่ากังวล
"ตอนนี้ทุกอุตฯเวลาทำแผน ก็ต้องเผื่อว่าจะลดลงประมาณ 10-30% ในแง่ของรายได้ ซึ่งเราต้องเผื่อว่าออร์เดอร์จะลดลง และเรื่องการขยายโรงงานก็คงจะไม่มีเกิดขึ้น ซึ่งของเราไม่มีแผนขยายโรงงานอยู่แล้วในปีหน้า"นายปัญจะ กล่าว
โรงงานหลักๆ ของ KCE ยังอยู่ครบ มีเพียงโรงงาน KCE International(KCEI) ที่บางปู ซึ่งอยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุงอยู่จะปรับปรุง ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เปิด ส่วนจะเปิดเมื่อใดยังไม่มีกำหนดขึ้ยกับผู้บริหาร แต่เชื่อว่าจะไม่มีการลดพนักงานลดอีก หลังจากที่ตัดค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงานที่เป็นซับคอนแทร็คไปแล้ว 400-500 คน
นายปัญจะ กล่าวว่า สำหรับการชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีผลกระทบต่อบริษัทบ้าง โดยทำให้อาจส่งของให้ลูกค้าล่าช้าไป แต่เนื่องจากสินค้าของเราไม่เสียหายจึงไม่มีปัญหามากนัก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงต้องจัดการกับปัญหานี้โดยเร็วๆ ปล่อยไว้เช่นนี้ไม่ได้
*เชื่อยังบริหารได้แม้ใช้เงินซื้อหุ้นคืน ทั้งที่ D/E สูง
นายปัญจะ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องซื้อหุ้นคืนแม้ว่าบริษัทยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงถึง 2.2 เท่า เนื่องจากเห็นว่าหุ้นไม่สะท้อนความเป็นจริงของพื้นฐานบริษัท ตอนนี้ BV อยู่ที่ ประมาณ 5-6 บาท แต่ราคาหุ้นเหลือ 1.30 บาท คิดว่าไม่ถูกต้องจึงซื้อหุ้นเก็บเข้ามาดีกว่า ซึ่งเรายังเชื่อมั่นว่ายังไงบริษัทก็คงอยู่ได้ไม่มีปัญหา
"เรายังพอมีเงิน ใช้เงินนิดเดียวไม่กี่สิบล้านบาทในการซื้อหุ้นคืน ยังบริหารได้" นายปัญจะ กล่าว
บอร์ด KCE อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน(Treasury Stock)เพื่อการบริหารทางการเงินในวงเงินจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยวงเงินสูงสุดที่จะใช้ในการซื้อหุ้นคืน 39 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน 46 ล้านหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 9.95 กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืน 8 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2552