(เพิ่มเติม) TKT หันเจาะตลาดแม่พิมพ์เพิ่ม พยุงสถานการณ์ปีหน้าที่คาดรายได้ลดตามอุตฯยานยนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 3, 2008 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุมพล เตชะไกรศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม (TKT) กล่าวว่า ในปี 52 บริษัทคงจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับผลกระทบที่อาจจะได้รับโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าปีหน้าจะปรับลง 20% ซึ่งจะทำให้รายได้หรือยอดขายของบริษัทปรับตัวลดลง 20-30% หรืออยู่ที่ 800-850 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากรถยนต์ 60% แต่อย่างไรก็ตามในปีหน้า บริษัทคงจะหันมาให้ความสำคัญในส่วนของแม่พิมพ์อุตสาหกรรมมากขึ้นโดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 10% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 6% อีกทั้งแม่พิมพ์มีอัตรากำไรขั้นต้น หรือ มาร์จิ้นที่ 20-25% สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่พิมพ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม่พิมพ์รถยนต์ที่มีมาร์จิ้นเฉลี่ยประมาณ 15% อีกทั้งยังมีออร์เดอร์ล่วงหน้าแล้ว 40 ล้านบาท

ขณะที่ ในปี 51 ยังเชื่อว่าทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1 พันล้านบาท เพราะงวด 9 เดือนมีรายได้แล้วกว่า 800 กว่าล้านบาท

นายจุมพล กล่าวต่อว่า ถึงแม้ธุรกิจแม่พิมพ์จะช่วยยอดขายในปี 52 แต่คงชดเชยไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งคงจะต้องหายอดขายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกันในปีหน้า บริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมต้นทุน เพราะจะช่วยสร้างกำไรให้เติบโต โดยปีหน้าตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้น 18% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 51

"ตอนนี้เราได้เตรียมแผนในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดในปีหน้าก็ได้ แต่ที่เห็นคืออุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องหดตัวอย่างแน่นอน สิ่งที่ทำได้คือการรักษายอดขายเดิมและยอดขายใหม่ และถ้าหากเลวร้ายจริงๆ ที่ทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนได้ก็คงจะเห็นการลดโอที ลดพนักงาน เลย์ออฟ แต่เป็นวิธีสุดท้ายที่จะเลือก" นายจุมพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีหน้าทุกอย่างจะเลวร้าย แต่ไม่ใช่ว่าบริษัทจะต้องหยุดการลงทุน เพราะวิกฤตอาจจะเป็นโอกาส จึงได้มีการเตรียมการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเครื่องฉีดลายพ่นสี การปรับปรุงโรงงาน รวมเม็ดเงินประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่จำเป็นเพราะหากทุกอย่างกลับมาฟื้นก็จะสามารถทำงานให้กับลูกค้าได้ทันที

ทั้งนี้ การลงทุนเครื่องฉีดลายพ่นสีดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดให้กับธุรกิจในปี 52-53 ต่อเนื่อง และยังสอดคล้องกับธุรกิจแม่พิมพ์ ด้วย

ในส่วนการหาพันธมิตรนั้น นายจุมพล กล่าวว่า ในช่วงนี้คงยังไม่รีบ แต่ก็ยังเปิดทุกทางเลือกไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรในแง่การร่วมทุนหรือการเข้ามาช่วยเหลือด้าน Know-how ซึ่งที่ผ่านมา พันธมิตรได้ชะลอเจรจาไปบ้างเพราะตอนนี้เชื่อว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนทุกรายต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะหาวิธีเอาตัวรอด แต่อย่างไรก็ตามการเจรจาของพันธมิตรญี่ปุ่น บริษัทหวังว่าน่าจะจบได้ในปีหน้า หลังจากที่เห็นบริษัทรุกธุรกิจแม่พิมพ์ซึ่งสามารถต่อยอดธุรกิจได้ทั้ง 2 ฝ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ