นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะนักเศรษฐกิจศาสตร์ ของบล.ทิสโก้ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ถึงมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลง 1% มาที่ 2.75% นั้นว่า ถือเป็นนโยบายแบบช็อคที่เกิดขึ้น ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
แม้ว่าในระยะสั้นคนอาจจะตกใจและอาจจะคิดว่าเศรษฐกิจไทยถึงขั้นแย่มากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ถึงทำให้กนง.ต้องลดอัตราดอกเบี้ยมาทีเดียว 1%
"ก็เห็นด้วยนะที่ กนง.ประกาศใช้นโยบายช็อค ลดดอกเบี้ยทีเดียว 1% เพราะจากการมองช่องทางต่าง ๆ แล้วเห็นว่าแย่มาก ทั้งต้องเจอภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ และยังต้องมาเจอเรื่องภายในที่แย่ ๆ อีก ซึ่งการทำอย่างนี้ก็ทำให้เป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ทางบล.ทิสโก้ยังคงคาดการณ์ตัวเลข GDP ปีหน้า(2552)แย่อยู่ โดยคาดติดลบ 0.8%"นายสมประวิณ กล่าว
นายสมประวิณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ให้น้ำหนักในการควบคุมการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อมาก แต่ปีหน้า(2552)เมื่อเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อคงจะอยู่ในทิศทางขาลงอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง และราคาน้ำมันก็น่าจะยังอยู่ในทิศทางอ่อนตัวลงด้วย
นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.น่าจะเป็นมาตรการที่ออกมาป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปมากกว่า เนื่องจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ซึ่งหากไม่มีเรื่องการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทางกนง.ก็อาจะไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยมากขนาดนี้
อย่างไรก็ดี มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงจะช่วยอะไรไม่ได้มาก ยังจะต้องมีมาตรการอื่นออกมาช่วยด้วย
"ตอนนี้รัฐบาลถือว่าอยู่ในลักษณะเป็นง่อยอยู่ การจะเอาเงินออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องชะลอออกไปก่อน ซึ่งนอกเหนือจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องมีมาตรการการคลังออกมาช่วยด้วยเป็นราย Sector"นายวรุตม์ กล่าว
รองกรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ในครั้งนี้ก็เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทย ทำให้เม็ดเงินมีโอกาสที่จะไหลเข้าตลาดทุน เนื่องจากเมื่อผลตอบแทนจากตลาดเงินลดลงแล้ว คนก็จะหันมามองที่ผลตอบแทนจากตลาดทุนแทน ซึ่งเวลานี้ผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นก็น่าสนใจ