บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) คาดว่ารายได้ในปีหน้าหนีไม่พ้นหดตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เตรียมทบทวนแผนงานทั้งหมดในเดอืนก.พ.-เม.ย.52 หลังสรุปออร์เดอร์ได้ชัด ๆ ช่วงปลายนี้ถึงต้นปีหน้า แต่เบื้องต้นสั่งชะลอแผนลงทุนไปแล้ว
นายวรพจน์ ฉัตรชัยกุลศิริ รองกรรมการอำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี SAT ประมาณการว่า รายได้ในปี 52 ของบริษัทจะปรับลดลง 15-20% จากปีนี้ที่มีรายได้ 5.8 พันล้านบาท หรือเติบโตกว่า 15% ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้กำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกปรับลดลง รวมถึงไทยที่ถือว่าเป็นฐานการผลิตใหญ่ ซึ่งคาดว่ายอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์จะลดลง 12% ในปี 52 จาก 1.42 ล้านคันเหลือแค่ 1.25 ล้านคัน
"ยอมรับว่าคำสั่งซื้อในเดือนธ.ค. เริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจากโตโยต้าที่ลดกำลังการผลิตลง 30% ตั้งแต่ พ.ย. -เม.ย. 52 ขณะที่อีซูซุลดกำลังผลิตลง 15% ตั้งแต่ ธ.ค.-มี.ค. 52 และมิตซูบิชิไทยลดลง 40%" นายวรพจน์ กล่าว
นายวรพจน์ คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของ SAT ในปีหน้าจะลดลงประมาณ 20% ซึ่งการผลิตชิ้นส่วนต่างๆจะปรับตัวลดลงในทุกส่วน
แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนหลายแห่งในโลกประสบปัญหา มีการปิดตัวลงและลดกำลังการผลิต จะส่งผลดีต่อบริษัทที่จะมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อเพิ่ม โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาออร์เดอร์จาก ฮีโน่ ในอเมริกา และยังมีการเจรจาที่บราซิล รวมถึงอินเดียด้วยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อน ก.พ.52
ด้านการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต นายวรพจน์ กล่าวว่า ในส่วนของเพลาข้าง มูลค่า 276 ล้านบาทคงจะเลื่อนออกไปก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะลงทุนในปี 51 และจะลงทุนก็ต่อเมื่อได้คำสั่งซื้อที่คาดว่าจะรู้ผลในก.พ. 52 รวมถึงการขยายโรงงานหล่อของคูโบต้าที่จะใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.2 พันล้านบาทที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเม.ย. 52
"หากได้ออร์เดอร์เพิ่มจากคูโบต้าอีก 2.5 หมื่นคันจากปัจจุบันที่เคยได้ 2.5 หมื่นคัน หากมีการลงทุนทั้ง 2 โครงการคาดว่าจะไม่มีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากบริษัทได้มีการเจรจากับธนาคารไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว"นายวรพจน์ กล่าว
ผู้บริหาร SAT คาดการณ์ว่า แนวโน้มธุรกิจยานยนต์ในปี 52 จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัทก็หนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับผลกระทบ แต่ยังเชื่อมั่นว่ายอดขายของบริษัทจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าอุตสาหกรรม และยังมีความหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 52 ผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศจะมีการทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมได้
ประกอบกับบริษัทก็พยายามหารายได้จากการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะช่วยให้รายได้ของบริษัท ไม่ปรับลดไปมากนักแม้อุตสาหกรรมจะแย่ แต่บริษัทจะมัการลดการทำงานล่วงเวลาของพนักงานลงจากปกติเฉลี่ย 600 ชม./เดือน เหลือประมาณ 450-500 ชม./เดือน และจะมีการพิจารณาปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร แต่ยืนยันว่าจะไม่ลดจำนวนพนักงาน เนื่องจากเป็นพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่จะลดในส่วน Outsources ออกไป