(เพิ่มเติม) รฟม.คาดเปิดซองราคาสายสีม่วงปลาย ธ.ค.นี้/สายสีเขียวคาดเปิดขายแบบกลาง ม.ค.52

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 4, 2008 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) คาดปลายเดือนธ.ค.จะเปิดซองราคาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) หลังจากที่มีเอกชน 3 กลุ่มผ่านด้านเทคนิคแล้ว ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เตรียมเปิดขายแบบประกวดราคาทั้งสองเส้นทาง ในกลางเดือนม.ค. 52 และประเมินเบื้องต้นจะได้ผู้รับเหมาชนะการประมูลในเดือนมิ.ย. 52

นายเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว รักษาการผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม.ได้ส่งรายชื่อผู้ที่ผ่านด้านเทคนิค สำหรับสัญญาที่ 1 และ สัญญาที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงทีเพิ่งประกาศเมื่อปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ให้กับทาง องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า)ซึ่งเป็นผู้ให้วงเงินกู้ ได้พิจารณาอีกครั้งก่อนที่ รฟม.จะเปิดซองราคา

"ถ้าเขาไม่ขัดข้องตามปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการพิจารณา เราก็คิดว่าจะเป็นช่วงประมาณหลังวันคริสต์มาส ซึ่งการเปิดซองราคา เราก็จะเชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงาน และสื่อ เข้ามาร่วมการเปิดซองราคา" นายเยี่ยมชาย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ บริษัทที่ผ่านด้านเทคนิคแล้ว สัญญาที่ 1 ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเม้นท์ (ITD), บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ กลุ่ม CKTC ซึ่งมี บมจ.ช.การช่าง (CK) ร่วมกับ โตคิว จากญี่ปุ่น

และสัญญาที่ 2 ได้แก่ กลุ่ม CKTC , STEC และ กลุ่ม ITON Joint Venture ประกอบด้วย ITD ,บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอร์เรชั่น และ บมจ. เนาวรัตน์ พัฒนาการ (NWR)

ทั้งนี้ สัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างด้านตะวันออก ระยะทางประมาณ 12 กม. มี 8 สถานี, สัญญาที่ 2 เป็นงานก่อสร้างด้านตะวันตก ระยะทางประมาณ 11 กม. มี 8 สถานี

นายเยี่ยมชาย กล่าวว่า ส่วนสัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจากนั้น รฟม.กำลังพิจาณาด้านเทคนิคคาดว่าสรุปได้สัปดาห์หน้าจะได้ผลผู้ผ่านเทคนิค จากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ และหลังจากให้ไจก้าพิจารณาจึงจะเปิดซองราคา อาจเป็นเดือน ม.ค. 52 ซึ่งจะช้ากว่าสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในสัญญาที่3 เป็นบริษัทที่ยื่นมาทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ 1.กลุ่มพีเออาร์ จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) บมจ. แอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON) และบริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด 2.กลุ่มทาเกนากะ-ฤทธา จอยท์เวนเจอร์

3.กลุ่มซีเคทีซี จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง ( CK)และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่นจากญี่ปุ่น 4.บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล้อปเมนท์ (ITD ) และ 5.บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC)

ทั้งนี้ คาดว่า สายสีม่วงจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 56

*สายสีเขียวคาดเปิดขายแบบกลาง ม.ค.52

ด้านนายชูเกียรติ โพธยานุวัตร รองผู้ว่ารฟม. กล่าววว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลังจากครม.เพิ่งอนุมัติ ทางรฟม.อยู่ระหว่างเตรียมทำเอกสารประกวดราคา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดขายแบบประกวดราคา ช่วงกลางเดือนม.ค. 52

ทั้งนี้จะเปิดขายแบบพร้อมกันทั้งสองเส้นทาง คือ สายสีเขียวอ่อน เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ มีวงเงินลงทุน 15,134 ล้านบาท ส่วนสายสีเขียวเข้ม เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่ วงเงินลงทุน 16,443 ล้านบาท

"เรื่องเปลี่ยนรัฐบาลคิดว่าไม่น่าจะกระทบกับโครงการแล้วเพราะได้ผ่านครม.แล้ว เราก็เดินไปตามขั้นตอน ซึ่งเราคิดวว่าจะเปิดขายแบบได้กลางมกราคม และให้เวลาผู้รับเหมา 60-90 วัน จากนั้นคิดว่าจะได้ผู้ชนะ ในดือนมิถุนายน ...ข้อมูลล่าสุดคิดว่าจะเปิดให้เป็นแบบ E-auction" นายชูเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากได้ผู้รับเหมาแล้ว จะใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี โดยคาดจะเปิดให้บริการในปี 55

*สายสีน้ำเงิน ไจก้ามาประเมินโครงการสัปดาห์หน้าก่อนปล่อยกู้

สำหรับโครงการสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) นายเยี่ยมชาย กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เงินกู้จากไจก้า โดยในสัปดาห์หน้าเจ้าหน้าที่จากไจก้าจะเข้ามารวบรวมข้อเท็จจริงของโครงการ จากนั้นกลางเดือนม.ค.52 จะเข้ามา ประเมินราคาของโครงการ ทั้งนี้คาดว่า น่าจะรู้ผลในช่วงกลางปี 52 หรือใช้เวลาพิจาณาประมาณ 5-6 เดือน หลังจากนั้น รฟม.จึงจะเปิดขายแบบประกวดราคาได้และ จะได้ผู้รับเหมาประมาณต้นปี 53

สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้จะใช้เวลาก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการในปี 58 ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างนานกว่า เพราะมีอยู่บางช่วงที่ต้องลอดแม่น้ำเจ้าพระยา

"ตอนนี้เราก็ทำไปได้ เพราะครม.อนุมัติผ่านหมดแล้ว เราไม่มีปัญหา ถึงแม้มีการเปลี่ยนแปลงการเมือง ...ตอนนี้ที่สำคัญคือเรื่องเงิน ถ้าได้วงเงินกู้ก็จบ" นายเยี่ยมชาย กล่าว

ทั้งนี้ ไจก้า ได้ให้กรอบวงเงินกู้ก่อสร้างระบบโยธา สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนกรอบวเงินกู้สำหรับสายสีน้ำเงินจะมีจำนวนประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นงานโยธา 5 หมื่นล้านบาท และ ที่เหลือเป็นงานระบบราง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ