นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า แผนงานในช่วง 3 ปี (ปี 52-54) ก.ล.ต.จะเพิ่มบทบาทและให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานในการเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมในตลาดทุน และส่งเสริมการแข่งขัน มากขึ้น โดยยังคงดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดและ คุ้มครองผู้ลงทุน
ในปี 52 ก.ล.ต. มีแผนที่จะส่งเสริมให้เกิดการเสนอสินค้าใหม่ๆ (new products) และนำสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ (new asset class) เข้ามาในตลาดทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่มีระดับการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ในการพัฒนานวัตกรรมนั้น จะมีการพิจารณาแยกกลุ่มผู้ลงทุนที่มีฐานะดี (high net worth) ออกจากผู้ลงทุนทั่วไป เพราะผู้ลงทุนกลุ่มนี้ซึ่งมียอดสินทรัพย์เป็นสัดส่วนสูงมีความพร้อมที่จะดูแลตนเองในการประเมินความเสี่ยงมากกว่าและรับความเสี่ยงแบบใหม่ ๆ ได้มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย
ก.ล.ต. จึงเห็นว่าการแยกประเภทผู้ลงทุน high net worth ออกมาจากผู้ลงทุนทั่วไปน่าจะช่วยเร่งการเติบโต ทั้งในระดับความลึกและความกว้างของตลาด และช่วยเพิ่มโอกาสในการระดมทุนของโครงการหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
รวมทั้ง ตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย โดย ก.ล.ต.ได้เสนอให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงเพื่อเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์เป็นการทั่วไปแล้ว โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 และให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการล่วงหน้าสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในปี 2553 และเปิดเสรีทั้งหมดในปี 2555
ด้านตลาดทุนในการเตรียมพร้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในตลาดทุนโลก ก.ล.ต. มีแผนที่จะดำเนินการเปิดเสรีต่อไปด้วยการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ (demutualization) และยกเลิกการผูกขาดในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์และการชำระราคาและส่งมอบ รวมทั้งให้ตลาดหลักทรัพย์เปิด trading access ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกเดิมได้ และสนับสนุนการเชื่อมโยงกับตลาดอื่น
*ปรับบทบาทก.ล.ต. ดันผู้ลงทุนดูแลตัวเอง
นอกจากนี้ ในปีหน้าจะปรับบทบาทและการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต.เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ก.ล.ต.จะปฏิรูปการกำกับดูแลทั้งกระบวนการทำงานและการออกกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้น (self regulatory organization) และปรับปรุงกฎเกณฑ์เป็นเน้นในเรื่องหลักการ (principle based) มากกว่ารายละเอียดในทางปฏิบัติ
อีกทั้งจะลดบทบาทที่ ก.ล.ต. เป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจเกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุน โดยจะเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น ในขณะเดียวกันจะพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ลงทุนในการใช้สิทธิของตน รวมถึงการเสนอปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สิทธิผู้ลงทุนเป็นสากล ตลอดจนให้ความรู้ผู้ลงทุนให้มีความเข้าใจและตื่นตัวเกี่ยวกับการใช้สิทธิมากขึ้น
"เป้าหมายในระยะต่อไปของตลาดทุนไทย คือจะปรับสัดส่วนการกำกับดูแลของทั้งสามส่วนให้มีน้ำหนักเท่ากัน ได้แก่ กฎระเบียบของทางการ , การดูแลกันเองของผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรม และ การใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเอง"นายธีระชัย กล่าว
ปัจจัยองค์ประกอบที่จำเป็น ได้แก่ การให้ความรู้และประสิทธิภาพในการใช้สิทธิของผู้ลงทุน การบังคับใช้กฎหมาย จรรยาบรรณของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้