KTAM เปิดขาย 2 กองทุนใหม่ ลงทุนตราสารหนี้รัฐ-พันธบัตรเกาหลีใต้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 9, 2008 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 6 เดือนคุ้มครองเงินต้น 3 (KTFIX6M3) และกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้3เดือน5 (KTSUP3M5) ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคมนี้

กองทุน KTFIX6M3 เป็นกองทุนที่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกระยะ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และเงินฝากสถาบันการเงิน ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัดส่วน 60% ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝาก/บัตรเงินฝากของธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารทิสโก้ อีกแห่งละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 2.10% ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของกองทุนปรับลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกองทุนที่เปิดจำหน่ายก่อนหน้านี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.75% ซึ่งปรับลดลงถึง 1.00% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับลดลง 0.50% - 1.00% โดยพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.25-2.60% รุ่นที่มีอายุยาวจะมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่านี้ เนื่องจากตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีโอกาสปรับลดได้อีกในการประชุม กนง.ครั้งหน้า

ส่วนกองทุน KTSUP3M5 อายุ 3 เดือน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ในสัดส่วน 75% และลงทุนในเงินฝาก/บัตรเงินฝากของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อีก 25% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนประมาณการที่ 3.80% ต่อปี และตราสารที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

นายสมชัย กล่าวว่า ความเสี่ยงของพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับฐานะการคลังของรัฐบาล ภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ โดยฝ่ายวิจัยของบริษัทเห็นว่าฐานะการคลัง ของเกาหลีใต้มีอัตราการก่อหนี้การคลังสุทธิ 33% ของ GDP ต่ำกว่าประเทศในกลุ่ม OECD ที่ส่วนใหญ่จะก่อหนี้อัตราสูงกว่า 60% ของ GDP และที่ผ่านฐานะการคลังยังคงเกินดุลต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะใช้นโยบายการคลังขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปัจจุบันยังมีความมั่นคงฐานะการคลังเกินดุลต่อเนื่อง อัตราการก่อหนี้สาธารณะต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และเชื่อว่าเพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีสถานะที่ดีกว่าในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 ค่อนข้างมาก โดยภาวะการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน แต่เนื่องจากเกาหลีใต้มีระบบเศรษฐกิแบบเปิดจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากต่างประเทศไม่พ้น สำหรับความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศที่จะเกิดกับนักลงทุนต่างประเทศ เชื่อว่ามีค่อนข้างต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ในช่วงวิกฤตเมื่อปี 2540 ประเทศเกาหลีใต้ไม่เคยประกาศห้ามเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ ของกองทุน KTSUP3M5 จะลงทุนในตราสารรุ่นที่มีอายุใกล้เคียงกับอายุกองทุน และมีการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าทั้งจำนวนให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่จะได้รับจากเงินลงทุน ดังนั้น จึงไม่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต ส่วนคู่สัญญาจะทำกับสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงสูง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ