ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ตั้งเป้าปี 52 สินเชื่อเติบโตราว 5-6% ตามภาพรวมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าชะลอตัวลง ขณะที่ปีนี้สินเชื่อเติบโตพลาดเป้าหมาย โดยขยายตัวต่ำกว่า 10% แต่ธนาคารยังตั้งเป้าที่จะรักษาสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ในปี 52 ไว้ไม่ให้สูงกว่า 5% ในปีนี้
นางกรรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 52 จะขยายตัว 1-2% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 3% เป็นผลกระทบจากการชุมนุมปิดสนามบิน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้การปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4/51 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และมีอัตราลดลงเร็วมาก ทั้งปี 51 จึงคาดว่าจะสินเชื่อคงจะขยายไม่ถึง 10% ตามที่วางเป้าหมายไว้
ขณะที่ในปี 52 SCB ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ โต 5-6% เท่าอัตราเติบโตของตลาดรวม หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อใหม่ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยยอมรับว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่กำหนดเป้าสินเชื่อลดลง เกิดจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และมีผู้ขอสินเชื่อน้อยลง
"ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ สินเชื่อเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารต้องเปลี่ยนนโยบาย โดยให้พนักงานเน้นเข้าไปช่วยเหลือลูกค้ามากขึ้น มีการแนะนำจัดอบรมสัมมนา มีความตั้งใจช่วยลูกค้า เข้าไปช่วยคุมต้นทุนค่าใช่จ่ายที่ไม่จำเป็น"นางกรรณิการ์ กล่าว
ส่วนยอดหนี้ NPL ในสิ้นปี 51 คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 5% ส่วนปี 52 ยอด NPL คงไม่ลดลงจากปีนี้ แต่จะพยายามควบคุมไม่เกิน 5% โดยยอมรับว่า ขณะนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ เริ่มเกิดหนี้เสีย หรือ การค้างชำระหนี้แล้ว แต่ในส่วน SCB ยังไม่มี โดย NPL เกิดได้ทุกกลุ้มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน แต่เชื่อว่าธุรกิจกลุ่มนี้ จะกลับมาดีขึ้น โดยใช้ระยะเวลาฟื้นตัว 1-2 ปี
กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีหน้าจะปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ในปี 52 โดยในส่วนของ SCB หาก กนง.ลดดอกเบี้ยลง 1.00% ธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก 1.00% และ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.50%
ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยของ SCB ปัจจุบันอยู่ที่ 3% และปีหน้าจะคุมไม่ให้ต่ำกว่านั้น เพราะคงจะลดต่ำกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากธนาคารมีต้นทุน และค่าความเสี่ยงที่มีมากขึ้น
"การที่ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงไปอีกหลังจากดอกเบี้ย กนง.ลดดอกเบี้ยลงไป 1.00% และธนาคารหลายแห่งได้ปรับดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ให้ลดคงไม่ไหวแล้ว เพราะต้นทุนดอกเบี้ยออมทรัพย์ของเราไม่ลดลลง สัดส่วนอยู่ที่ 40-50% ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปหลังการประชุม กนง.ในกลางเดือน ม.ค.52" กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าว
นางกรรรณิการ์ ได้ฝากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลเศรษฐกิจโดยด่วน ซึ่งหากหลังจากจัดตั้งรัฐบาลใหม่หวังว่าจะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจภายในไตรมาส 1/52 เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจปีหน้าติดลบ พร้อมสนอแนะภาคธุรกิจให้พร้อมปรับตัว โดยมีการจัดทำแผนธุรกิจที่มีควมยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ SCB คาดว่า ในปี 52 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงอีก 1.00-1.50% หรือปรับลงมาที่ 1.25-1.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% แต่มองว่าดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์อาจปรับลดลงตามไปได้ไม่มาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะมีต้นทุนสูง และมีปัญหาที่เกิดจากสภาพคล่องในระบบยังกระจายไม่ทั่วถึงในแต่ละธนาคาร เห็นได้ว่า ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ยังเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระดับเพื่อเร่งระดมเงินฝาก ขณะที่บางแห่งยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยทันที หลัง กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจจะกู้เงินในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ยากขึ้น ดังนั้น คงต้องให้สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ เข้ามาดูแลการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีแทน